พัฒนา “ถาดพลาสติกชีวภาพ” จากพืชในชุมชน สร้างรายได้ ลดขยะเป็นศูนย์

by ThaiQuote, 21 ตุลาคม 2564

โครงการ “ถาดพลาสติกชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือใช้” โดย รศ. ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์ จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ (วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 1 ในโครงการวิจัยที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ

 

โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตอบโจทย์ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงแนวคิดลดขยะเป็นศูนย์

“ทีมวิจัยได้พัฒนาถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งมีราคาถูก ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อจำกัดในการใช้งาน คือ ไม่ทนน้ำและมีความชื้นง่าย ดังนั้นจึงปรับปรุงคุณสมบัติของถาดโฟมแป้ง โดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ต้นคลุ้ม เปลือกเมล็ดยางพารา ผักตบชวา และเปลือกไข่ ซึ่งสามารถทดแทนถาดโฟมพลาสติกสังเคราะห์ที่ใช้ทั่วไป และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนและภาคการเกษตรด้วย” รศ. ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์ กล่าว

 

 

“ต้นคลุ้ม” เป็นพืชล้มลุกที่พบมากทางภาตใต้ ทั้งในสวนยางพาราและป่าเขา โดยเฉพาะใน จ.สตูล ซึ่งต้นคลุ้ม 1 ต้น ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการนำต้นคลุ้มมาลอกเปลือกด้านนอกของลำต้นออก ซึ่งมีความเหนียวและแข็งแรงเพื่อนำไปทำเครื่องจักสานทั้งฝาชี ตะกร้าต่างๆ

ทว่าเส้นใยนิ่มอีกครึ่งหนึ่งที่อยู่ภายในของต้นคลุ้ม ต้องนำไปกำจัดทิ้ง ดังนั้นทีมวิจัยจึงนำเส้นใยที่เหลือทิ้งมาล้าง อบแห้ง และนำมาปั่นได้เป็น ‘ผงเส้นใยคลุ้ม’ มีจุดเด่น ทนความร้อนได้ 302 องศาเซลเซียส และหากนำมาฟอกสีให้มีสีขาวจะทนความร้อนได้สูงขึ้นเป็น 358 องศาเซลเซียส ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทนความร้อนได้ดี จึงนำมาใช้เป็นสารตัวเติมสำหรับถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลัง โดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังผสมวัสดุเหลือใช้จากเส้นใยคลุ้ม ให้กับชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล จ.สตูล นำมาใช้แทนถาดโฟมพอลิสไตรีนในปัจจุบัน

 

 

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังใช้ประโยชน์ของเปลือกลูกยาง (เปลือกเมล็ดยางพารา) ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งในสวนยาง ซึ่งมีความแข็งแรง โดยนำมาตัด ปั่น แยกให้มีขนาดเล็กเท่าๆ กัน และนำมาบดให้เป็นผงแห้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสารตัวเติมสำหรับถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง

พบว่าเมื่อผสมผงเปลือกเมล็ดยางพารา ส่งผลให้ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังมีค่าความแข็งแรงสูงขึ้น 2 เท่าจากเดิม และไม่มีความเป็นพิษสามารถนำไปเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารได้

 

 

ขณะเดียวกันทีมวิจัยได้ใช้เปลือกไข่และเปลือกกุ้ง ที่เป็นแหล่งแคลเซียมจากธรรมชาติ (bio-calcium) มาแปรรูปเป็นผง และผสมกับถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง เพื่อปรับปรุงค่าความต้านทานต่อแรงกระแทกของถาดโฟมแป้งดังกล่าว

ทั้งนี้การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ ภายในชุมชน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้และเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้ง นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ลดภาระในการกำจัดขยะได้อีกด้วย

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ไทยสมายล์บัส “รถเมล์อีวี” ลดคาร์บอนเป็นศูนย์ เติมรอยยิ้มให้คนกรุง