‘ดัชนีวัดคุณค่าธุรกิจทางสังคม’ Sustain ที่จับต้องได้

by ESGuniverse, 23 พฤษภาคม 2567

วิถีใหม่ของการทำธุรกิจ ที่ไม่ได้อิงแค่ผลกำไร แต่ต้องเอา สังคมและสิ่งแวดล้อม มาเป็นตัวตั้งด้วย การจัดตั้ง “สถาบันเพื่อเศรษฐกิจใหม่” เน้นกรอบการทำงาน ที่มีดัชนีชี้วัดชัดเจน เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของโลก คือการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

ประเทศไทยมีเครื่องมืออะไร? ในการบริหารจัดการธุรกิจ ให้ไปตอบโจทย์ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) แล้วหรือยัง?

เป็นคำถามที่น่าสนใจ เนื่องจากในปัจจุบัน ในการทํากิจกรรม ทําโครงการ แผนงานในแต่ละปี ที่มีการผลิตสินค้า บริการ และการลงทุน ในธุรกิจ ยังมีการวัดผล โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม โดยใช้เครื่องมือทางด้านการเงิน เป็นตัวชี้วัดว่า การลงทุนนี้ คุ้มค่าหรือไม่?

ทว่าก็ยังไม่ตอบโจทย์โลก ในยุคที่กำลังจะเคลื่อนไปสู่ ‘ระบบเศรษฐกิจใหม่’ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน จึงจะต้องมีการลงทุน ด้านมิติของสังคม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีการจัดทำ ดัชนีชี้วัดให้สอดคล้อง สมดุล และเหมาะสม กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง

 

 

สิ้นสุดทางเศรษฐกิจดั้งเดิม
ปรับกระบวนทัศน์เกณฑ์วัดคุณค่า บริบทโลกใหม่

‘สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์’ เลขาธิการ สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย Social Value Thailand มองว่า โลกแบบดั้งเดิมที่ผ่านมา ขยับเขยื้อนด้วยคำถามชุดเดิม ที่มองการทำธุรกิจ มีตัวชี้วัด เป็นความคุ้มค่าทางการเงิน เป็นระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่อิงการลงทุน กับการใช้ทรัพยากร แล้ววัดผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด (Maximize Profit Return) ซึ่งไม่ตอบโจทย์ทิศทางโลก ที่กำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาสมดุล ไม่ได้มองเพียงแค่ศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางการเงินอย่างเดียว แต่ยังมีมิติในด้านของสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทั้งสามมิติ ต่างได้รับประโยชน์ร่วมกันไปด้วย โดยมีการจัดกรอบการทำงาน และมีหลักเกณฑ์การวัดผลที่เป็นรูปธรรม

“สมาคมประเมินมูลค่าทางสังคมไทย จึงตั้งขึ้นมา เพื่อให้ธุรกิจได้มีส่วนร่วม รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ทั้งทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงความคุ้มค่าทางการเงิน เพราะต้องการเปลี่ยนวิธีทำบัญชีทางโลกการเงิน พร้อมกันกับตรวจสอบสุขภาพขององค์กร ควรจะมีตัวเลขความคุ้มค่า ของสังคมและสิ่งแวดล้อม หลอมรวมอยู่ในการตัดสินใจด้วย”

ที่มาของดัชนีการชี้วัด ที่มีการวางกรอบการทำงาน เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ พยายามปลดล็อกคำถามของเศรษฐกิจในมิติเดิม โดยการจัดตั้ง ‘สถาบันเพื่อเศรษฐกิจใหม่’ (New Economy Foundation) ที่ทำให้โลกยั่งยืน พัฒนากรอบการทำงานที่ 4 นอกเหนือจากในมิติของภาครัฐ เอกชน และสังคม ดำเนินการจัดทำ หลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบ ได้แก่ การคำนวณผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ช่วยในการจัดวางกรอบกำหนดกลยุทธ์แผนการปฏิบ้ติงาน และมีส่วนในการสร้างกระบวนการตัดสินใจ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs

“หากเลือกวงใดวงหนึ่งก็ไปไม่รอด เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) หากมองมิติของสังคม และรอรับเงินบริจาคอย่างเดียว ก็ไม่ได้ จึงต้องเกิดวงที่ 4 เป็นเครื่องมือวัดคุณค่าร่วม ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาในการนำเม็ดเงินลงทุนเข้ามา ที่ผ่านมาตอบโจทย์เพียง กรอบความคุ้มค่าทางการเงิน และการประเมินผลกระทบทางธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การประเมินนี้ จะช่วยประเมินคุณค่าของธุรกิจได้ พัฒนาให้อุตสาหกรรมไทย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ร่วมพัฒนากันไป ทั้งระบบนิเวศทางธุรกิจ และอุตสาหกรรมสีเขียว ที่มีโอกาสยั่งยืนได้ในเวทีโลก”

  

 

5 กรอบการทำงาน
ตัดสินใจ วัดคุณค่ากงล้อห่วงโซ่

กรอบการทำงาน วิเคราะห์ผลกระทบธุรกิจ (Business Impact Analysis: BIA) มี 5 ข้อ ได้แก่ พนักงาน ธรรมาภิบาล ชุมชน สิ่งแวดล้อม และลูกค้า ผ่านเฟรมเวิร์กการประเมินว่า ภาคอุตสาหกรรมจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และช่วยกันสร้างโลกให้ยั่งยืน โดยมีชุดคำถามลงลึกในแต่ละด้านรวมกว่า 200 ข้อ

“เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ไม่มุ่งเน้นเพียงการหวังผลกำไรทางการเงินสูงสุดเป็นที่ตั้ง แต่จะต้องมีมิติของผลลัพธ์การสร้างคุณค่าร่วม ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ที่จะเป็นเครื่องมือไม่ให้โลกพัฒนาไปผิดทิศทาง”

เครื่องมือ SROI

การใช้เครื่องมือ SROI เพื่อการตัดสินใจ โดยมี SDGs เป็นเป้าหมาย เฟรมเวิร์ก SROI จึงเริ่มถูกนำไปคำนวน กับสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ มีอยู่แล้ว ให้เกิดการยึดโยงระหว่าง เป้าหมายที่มีผลกระทบกับเป้า SDGs ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่มองเป้าหมาย แต่เป็นตัวชี้วัดที่สามารถวัดได้ว่า การลงทุนต่าง ๆ ส่งผลอย่างไร สู่กระบวนการในการบริหารจัดการ ลงไปสู่กระบวนการตัดสินใจ เรื่องงบประมาณ ลงลึกกระบวนการติดตามงาน ว่าสามารถทําได้ตามนั้น จริงหรือไม่? ลงไปสู่กระบวนการ ในการรายงานผล และสื่อสารกับผู้ถือหุ้นต่อไป ทำให้มั่นใจได้ว่า การประเมินนี้จะนําไปสู่คุณค่าของธุรกิจได้อย่างแท้จริง

ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่า การทำธุรกิจต้องสร้างผลกระทบได้ด้วย ตามหลักเกณฑ์ของการประเมินผลกระทบทางธุรกิจ (BIA) ทั้ง 5 ประการ ได้แก่ พนักงาน ธรรมาภิบาล ชุมชน สิ่งแวดล้อม และลูกค้า

สำหรับขั้นตอนการประเมิน SROI ประกอบด้วย

1. การกำหนดขอบเขตการประมิน SROI กำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ
2. สร้างห่วงโซ่เชื่อมโยงผลลัพธ์ (Mapping Outcomes)
3. กำหนดตัวชี้วัด และประเมินมูลค่าผลลัพธ์
4. ปรับมูลค่าผลลัพธ์ที่เหมาะสม (Adjust Impact)
5. คำนวณมูลค่าผลตอบแทนการลงทุนทางสังคม (SROI Ratio)

 

 

 

3 โบนัส จัดประเมินธุรกิจ
ปิดรอยรั่ว หนีแข่งราคา สู่ New S-Curve

การวัดการสร้างมูลค่าทางสังคมมีหลักคิดว่า เมื่อ บริษัทไหนเก่งเรื่องสิ่งแวดล้อม เก่งเรื่องสังคม จะทําให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมี 3 ทฤษฎีที่ชี้วัดในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้จริง เพราะสามารถเป็นเกราะป้องกันการดำเนินธุรกิจ ได้ดังนี้ คือ

1.บริหารความเสี่ยง (Risk Management) จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเสียชื่อเสียง ไม่ดูแลสังคม คู่ค้า หลักสิทธิมนุษยชน (Human right) รวมถึงกฏกติกาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น CBAM … การที่ไม่ต้องไปแก้ไขปัญหาความเสี่ยงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกและภายในที่เกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉิน ทำใหห้ต้นทุนการทำงานลดลง เพราะไม่ต้องไปตามปิดรอยรั่วสิ่งที่เคยส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พูดง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องไปตามล้างตามเช็ดสิ่งไม่ดีในอดีต นำไปสู่การเพิ่มผลกำไรและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ

2. เกิดประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น (Eifficiency) เพราะการวางกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมตั้งแต่ในกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ การดูแลพนักงาน จะส่งผลทำให้มีอัตราการลาออกลดลง ทำให้กระบวนการทำงานเกิดประสิทธิภาพ ส่งผลไปสู่ห่วงโซ่อุปทาน การผลิต(Supply Chain) ที่แข็งแกร่ง

“เมื่อคนเห็นคุณค่าจะไม่ถูกต่อราคามาก เพราะไม่ได้อยู่ในเทียร์ที่จะต้องแข่งขันด้านราคา เรามีคุณค่า เป็นสินค้ารักษ์โลกทำให้โลกดีกว่า เพราะมาจากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นบริหารจัดการงบประมาณได้มีมูลค่าสูงขึ้น สินค้าดีขึ้น บริษัทมีกำไรมากขึ้น องค์กรมีมูลค่าสูงขึ้น ก็ส่งผลต่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น”

3.สร้างมุมมองใหม่ ๆ เปลี่ยนผ่านสู่ตลาดใหม่ (New Perspective) เมื่อปรับโครงสร้างมองเห็นรอยรั่ว คุณค่า และโอกาสใหม่ ๆ ที่จะตอบสนองต่อโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการตอบโจทย์ธุรกิจสีเขียว ก็ดึงดูคู่ค้าซัพพลายเชนใหม่ ๆ ร่วมมือกันขับเคลื่อน เริ่มขยายไปสู่การค้นหานวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกดีขึ้น เช่น ธุรกิจสิ่งทอ ทำอย่างไร จะช่วยให้โลกลดคาร์บอน ลดขยะ และการค้นหาสถาบันการเงิน มาร่วมมือกันเชื่อมโยงกับสินค้าที่จะช่วยเหลือชุมชน เพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตใหม่ (New S-Curve) สร้างรายได้ใหม่ ลูกค้าใหม่ ให้กับธุรกิจ

 

 

 

3 หลักเกณฑ์การวัด อุตสาหกรรมสีเขียว
นำคุณค่าสู่สังคม-สิ่งแวดล้อมเติบโต

อุตสาหกรรมยุคหน้าที่ทั่วโลกยอมรับ จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่คู่ชุมชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Inclusive Growth) ไม่เอาประโยชน์ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก จึงต้องมีกรอบการประเมินให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในหลักเกณฑ์การประเมินดัชนี มี 3 ด้าน ประกอบด้วย

1. เป็นสินค้าที่มีการผลิตและใช้ภายในประเทศ (Domestic) หากมีการใช้ในประเทศมาก ก็ถือว่าได้รับการยอมรับเป็นสินค้าสีเขียวที่มีการแบ่งปันสร้างคุณค่าให้ตลาดภายใน

2. ความสามารถในการส่งออกสินค้าบริการสีเขียวไปสู่ตลาดโลก (Export) การที่สินค้ามีปริมาณการส่งออกไปสู่ตลาดโลกมาก ก็สะท้อนถึงคนนอกประเทศหรือคนทั่วโลกได้ใช้มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการช่วยให้เกิดโกลบอลซัพพลายเชนที่มีความยั่งยืนมากขึ้น

3. กระบวนการผลิตสีเขียว (Green Process) ทำให้เกิดการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ตั้งแต่ มีการจ้างงาน ดูแลพนักงาน ลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม

 

 

ไทยอันดับ 39 ส่งออกปูพรมระดับโลก
ปิดช่องว่างเครือข่ายซัพพลายเชนสีเขียว

สำหรับประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 39 ของโลก เป็นที่ 2 ของในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ จุดแข็งของประเทศไทยคือการเป็นฐานการผลิตที่ดีมีความแข็งแกร่งอยู่ในระดับสูงขึ้นมาจากระดับกลาง (Upper Middle Class) แต่ยังมี 2 ด้านที่ไทยมีคะแนนต่ำกว่า นั่นคือผลิตสินค้าภายในประเทศ และการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชน สินค้ารักษ์โลก ถือเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) มีการจ้างงานกว่า 8 แสนคน ใน 60 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

“เราต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 39 ในด้าน สินค้าภายในประเทศ และซัพพลายเชน เราเก่งด้านส่งออก และหาวิธีส่งออกได้ ทำให้ในภาคอุตฯ ไทยอยู่ระดับโลก การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

ก้าวแรก.. เปิดบ้าน สแกนความโปร่งใส

เมื่อมีการชี้วัดการสร้างคุณค่าความยั่งยืนจากอุตสาหกรรม ที่ตอบโจทย์ ESG และ SDGs พบว่า มีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้น จึงยังขาดมิติของการเปิดเผยข้อมูล ที่จะนำไปสู่การสื่อสาร ไปสู่สาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถึงทิศทางการยกระดับโครงสร้างไปสุู่มาตรฐานสากลได้อย่างไร

เนื่องมาจากการทำ ESG และSDGs ต่ออุตสาหกรรมยังเป็นภาษาที่ยังยากในการสื่อสารทำความเข้าใจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 8,000 แห่ง เป็นฐานสำคัญอยู่กับรากหญ้า ชุมชน หากยังแปลภาษาด้านความยั่งยืนที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ คนจึงไม่เข้าใจถึงการดำรงอยู่ของธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงถือเป็นงานที่ท้าทาย ในการสร้างผลกระทบในระดับชุมชน เชื่อมต่อกับตลาดทุน ช่วยให้ทำงานกับซัพพลายเชนง่ายขึ้น

“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรม และบรรดาบริษัทจดทะเบียน ยังขาดความพร้อม ตอบโจทย์ SDGs จึงต้องเริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะชน ตามหลัก ESG เป็นเรื่องสำคัญ สามารถเชื่อมโยงตลาดทุนและผู้ประกอบการ ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงขั้นตอนการผลิตสุดท้าย เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อย ยังเข้าใจว่า การทำด้านความยั่งยืน ต้องไปทำ CSR แต่การทำความดีในธุรกิจโลก ต้องสามารถวัดผลได้ด้วย สามารถตอบเป้าหมาย SDGs ร่วมกันได้”

ดัชนีการวัดนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในการวางแผนการทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่มาจากการวางแผนกลยุทธ์ในกระบวนการ จึงทำให้ผู้ประกอบการ ยกระดับกิจกรรมการทำ CSR ที่ในอดีต คนต่างเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงการทำดี เพียงแค่การทำบุญ ช่วยเหลือสังคม มีการทำเพียงปีละครั้ง และแบ่งงบมาจากกำไร เมื่อไม่มีกำไรจึงไม่ทำ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงหากมีการใช้ไม่ถูกจุด จึงต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถวัดผลกระทบเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ดัชนี ของ BIA จึงเข้าไปดูใน 5 มิติ สำคัญ

“ถ้าเงินที่ใช้ไปทำ CSR ถูกใช้ในทางที่ถูกก็จะเกิดผลกระทบสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง จึงต้องมีการวัดผลชัดเจนถึงทรัพยากร ดังนั้น ภายในนิคมอุตสาหกรรม จึงต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการทำงานที่ส่งผลกระทบขนาดใหญ่”

ขยายเครือข่ายนิคมระบบนิเวศสีเขียว
ทำคำว่า Sustain ให้จับต้องได้

ต่อยอดจากการดำเนินการ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ของโรงงานและนิคม สร้างประโยชน์เพื่อยกระดับสู่เป้า SDGs โดยใช้ โครงการพัฒนาเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (I-EA-T Sustainable Business : ISB) โดยเก็บคะแนน เพื่อเปรียบเทียบข้อมูล ภายใต้ความร่วมมือกับ กนอ. ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ ไปยังนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อดำเนินการให้อุตสาหกรรมในไทย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยกันพัฒนาทั้งระบบนิเวศน์ เป้าหมายเพื่ออุตสาหกรรมสีเขียวยั่งยืน

เป้าหมายของการนำ ISB ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม คือ การที่ขับเคลื่อนให้นิคมอุตสาหกรรม สร้างระบบนิเวศสีเขียว ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม ในมาตรฐานเดียวกันกับระดับโลก ซึ่งหลักเกณฑ์การวัดจะทำให้เห็นถึงช่องว่าง และโอกาสที่จะต้องเติมเต็ม เพื่อให้บริษัททำธุรกิจที่แก้ไขปัญหา และส่งต่อสิ่งที่ดีต่อโลกได้อย่างแท้จริง

ทำให้คำว่า ‘Sustain’ จับต้องได้ มีการชี้วัด้านธรรมาภิบาล การบริหารจัดการดูแลพนักงาน คู่ค้า ให้เกิดแนวทางปฏิบัติชัดเจน