สงครามตะวันออกกลาง กระทบการเดินหน้า SDGs ไทยจะรับมืออย่างไรบ้าง

by บุษกร สัตนาโค, 22 พฤษภาคม 2567

เหตุการณ์ผู้นำอิหร่านเสียชีวิตจากเฮลิคอปเตอร์ตก อาจเป็นชนวนลุกลามสู่ภาวะสงคราม ซึ่งไม่เพียงแต่สะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังกระทบไปถึงด้านการพัฒนายั่งยืนที่ประเทศต่าง ๆ ได้ประกาศเป้าหมายไว้ แล้วไทยควรตั้งรับอย่างไร เมื่อเรายังพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก

 

 

การเสียชีวิตของผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ‘อิบราฮิม ราอีซี’ จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก ที่ จ.อาเซอร์ไบจานตะวันออก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน นับเป็นข่าวใหญ่สะเทือนตะวันออกกลางและอาจส่งผลกระทบทั้งโลก เมื่อสื่อต่างประเทศรายงานว่าสาเหตุของเฮลิคอปเตอร์ตกครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่อุบัติเหตุ แต่มีแนวโน้มเป็น ชนวนลุกลามไปสู่ภาวะสงครามโจมตีระหว่างกัน ซึ่งนำไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเพื่อทำลายล้างกัน

ในขณะที่พันธะสัญญาทั่วโลกกำลังร่วมมือกันสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม ด้วยการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) 17 ข้อ แต่ถ้าหากเกิดความรุนแรงขึ้น จะเป็นสาเหตุทำให้เส้นทางที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ความยั่งยืนนั้นไม่คืบหน้า หรืออาจหยุดชะงักได้

เศรษฐกิจโลกไม่ดี
ทั่วโลกเกิดสงครามย่อย ๆ
กระทบส่งออก

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยปัจจุบันเราเป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลก ไม่ใช่แค่ผลิตเพื่อในประเทศอย่างเดียว แต่ยังผลิตเพื่อส่งออก โดยคิดเป็นสัดส่วนผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 70% และส่งออกต่างประเทศ 30% ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ของโลก กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่มีผลต่อระดับราคาสินค้า และการตัดสินใจของผู้ซื้อต่างประเทศ

ถ้าในมุมของการส่งออกเราเผชิญปัญหามาสักระยะแล้วตั้งแต่โควิด ที่แต่ละประเทศมีการล็อกดาวน์ ทำให้การซื้อขายไม่ดีเท่าที่ควร ต่อมาก็เกิดภาวะความขัดแย้งต่าง ๆ ในโลก เกิดสงครามย่อย ๆ ในแต่ละพื้นที่ถือว่าอยู่ในช่วงบอบบาง

เป้าหมายเรื่องการพัฒนายั่งยืนหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่ในรูปแบบวอรันเทียร์ ในภาพของการค้าทั่วโลก คือใครสามารถทำอะไรได้ก่อนก็ทำไปก่อน ก็จะได้การยอมรับและความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคได้เร็วกว่า ถือว่าเป็นโอกาสของใครของมัน

แต่ก็จะมีบางประเทศที่เริ่มเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นมาตรฐานทางการค้า หรืออาจจะเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ประเทศเขาทำก่อนแล้ว มีต้นทุนก่อนแล้ว ประเทศอื่นก็ต้องทำเหมือนเขาให้ได้ ซึ่งมันก็มีทั้งทั้งข้อดีข้อเสีย ประเทศที่มีความสามารถในการปรับตัวได้เร็วและมีทุนในการทำ ก็จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่เขาจะต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ต้องลงทุนมาก อาจจะหลุดจากวงโคจรไป

ส่วนในภาพองค์กรสหประชาชาติ SDGs 17 เป้าหมาย ทำได้หลากหลายวิธีมาก แต่ที่ทำกันมากที่สุดก็จะเป็นเรื่องของการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ถึงแม้ว่าตอนนี้แต่ละประเทศจะมีการประกาศเป้าหมายเรี่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) 2050 และ Net Zero 2065

ทุกประเทศก็พยายามประกาศออกมาให้เห็นเป้าหมายว่าอีกกี่ปีจะทำได้สำเร็จ จะไม่ปล่อยคาร์บอนแล้วแต่ความสามารถของแต่ละประเทศที่อาจมีทุน หรือเงินไม่เท่ากัน นี่คือภาพรวมของทั้งโลก พอมีเป้าหมายแล้วแต่ละปีก็ต้องมีผลงานออกมาที่วัดค่าได้ว่าได้เริ่มอะไรไปแล้วบ้าง นโยบายของรัฐมีอะไรบ้าง มีอะไรเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหว

ความขัดแย้งทำการขนส่งสินค้าติดขัด
กระทบราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ-คนยากจน

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ความกังวลแรกที่เห็นชัดคือ เป้าหมายต่าง ๆ ที่เราตั้งไว้อาจทำได้ยากขึ้น ถ้าเป็นภาคการผลิต เส้นทางการเดินเรือก็เปลี่ยนไป แทนที่จะวิ่งไปตามเส้นทางที่ร่นระยะเวลาที่สุด ประหยัดต้นทุน ประหยัดน้ำมัน ปล่อยกำมะถันน้อยที่สุดด้วย ก็จะไม่สามารถทำได้ ต้องใช้เวลาอ้อม ตามหลักการสองสัปดาห์ แต่เวลาจริงอาจเป็นเดือนสองเดือน ซึ่งส่งผลมาก ๆ กับเรือที่ต้องใช้พลังงานมากขึ้น ทางออกคือถ้าจะเปลี่ยนวิธีขนส่ง เช่นไปทางเครื่องบิน จะมีวิธีการอย่างไรให้ต้นทุนขนส่งลดลง อาจจะต้องนำมาสู่การพัฒนาสินค้า แพ็กเกจจิ้งให้เบาลง

ความขัดแย้งส่งผลต่อค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วย สิ่งที่ทั้งโลกกังวัลตอนนี้ ต่อให้เราบอกจะใช้พลังงานทดแทนก็ตาม เราไม่สามารถทำได้แบบข้ามวันข้ามคืน ยังต้องพึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิลอยู่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้อยู่ในแหล่งสำคัญของการผลิตน้ำมัน หลายคนอาจกังวลเรื่องราคาน้ำมันจะสูงขึ้นแน่ ๆ เพราะมีการสู้รบ การผลิตอาจจะไม่สะดวกอย่างเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางการขนส่งพลังงาน มันจะถูกกระทบ และมีความผันผวนมาก เพราะจะได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือไม่แน่ใจว่าจะออกมาได้ไหม โดยเฉพาะตรงที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางหลักของการนำแหล่งน้ำมันหลักของโลกออกมา

“ดังนั้นถ้าเหตุการณ์เริ่มหนักขึ้นจนต้องปิดช่องแคบนี้ ถือว่ารุนแรงโลกกำลังสั่นคลอน ตอนนี้อาจจะยังไม่มี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการประทุขึ้นมา มันกระทบเป็นห่วงโซ่แน่ ๆ สุดท้ายก็ไปกระทบต่อเงินเฟ้อทั่วโลก ที่พยายามกดยังไงก็ไม่ลง”

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจโลก พอเกิดเหตุการณ์นี้นโยบายประเทศต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้ ต้นทุนทั่วโลกก็จะสูงขึ้น ส่งผลต่อความยากจนของคน พอต้นทุนทางการเงินสูง ไม่มีสินค้าไหนทำออกมาแล้วราคาต่ำได้ ข้าวของจะยังแพงอยู่ และคนรายได้น้อยก็จะเข้าถึงยาก ทุกธุรกิจอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ ในภาวะที่ต้นทุนขึ้นหมด ส่วนคนซื้อก็จะไม่มีกำลังเป็นผลกระทบลูกโซ่ตามมา

พลังงานถูกบีบใช้มากขึ้น

“ในโซนที่เกิดสงคราม เป็นแหล่งผลิตพลังงานทั้งนั้น กระทบถึงภาคผลิตที่ใช้พลังงาน ไฟฟ้า ต่าง ๆ และยังมีหลายประเทศ ที่ยังต้องใช้ฟอสซิลเหมือนเดิม ในภาคผลิตต้องหานวัตกรรมเรื่องการเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ได้นานขึ้น เพราะสินค้าไม่สามารถระบายได้เร็ว เหมือนปกติ จะต้องมีการเก็บสต๊อก เพราะถ้าไม่มีการเก็บสินค้าเกษตรบางตัวก็จะหายไปเลย พอพ้นฤดูกาลก็ไม่มีแล้ว ไม่รู้จะเก็บยังไง” รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าว

ไทยยังพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก

ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ในประเทศที่กำลังขัดแย้งกันล้วนแต่เป็นแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกกลาง ตอนนี้ก็ปรับตัวมองเรื่องพลังงานทดแทน
ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมองอีกมิติหนึ่ง เราจะมีแหล่งพลังงานเชื้อเพลิง ปิโตรเลียม ถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง อย่างเยอรมันอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ตั้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ แต่พลังงาน สะอาด พลังงานลม ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ

ตอนนี้เขาก็มองว่าอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งพลังงานหรือไม่ หรือจะมีการต่อท่อ ทำการขนส่งพลังงานสะอาดไปยังพื้นที่ภาคใต้ที่มีอุตสาหกรรมอยู่อย่างไร ถ้ามองมิตินี้คือเป็นการปรับตัว ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวได้ไว แต่พอหันกลับมาที่ประเทศไทยก็ยังยากอยู่ที่จะปรับตัวอย่างไร เพราะเราพึ่งพิงพลังงานเป็นหลัก และพลังงานที่เป็นพลังงานทางเลือกค่อนข้างมีปัญหา ทั้งด้านนโยบายเราจะสนับสนุนอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องโซลาร์ เรามีศักยภาพมากแต่การสนับสนุนของรัฐยังมีข้อจำกัด รวมถึงมีกฏระเบียบมากมาย ซึ่งตรงนี้เราจะแก้อย่างไร

หรือพลังงานอื่น ๆ ระบบกริด ระบบเชื่อมโยงก็ยังไปไม่ถึง เราจะเชื่อมโยงอย่างไร ต้องหันกลับมามองใหม่ เพราะตอนนี้เรามีเป้าหมายจากการประชุมระดับโลกต่าง ๆ ไทยเราจะไปสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) 2050 และ Net Zero 2065 ตอนนี้เรามีเป้าหมายทางแล้ว แต่ระหว่างทาง โดยเฉพาะภาคพลังงาน ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก ก็ต้องทำให้เห็น ภาพชัดเจนขึ้น ไม่เช่นนั้นเราปรับตัวไม่ทัน เพราะเรายังพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก

ยกตัวอย่างสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมากำลังเกิดปัญหา หรือเรื่องพลังงานน้ำใน สปป.ลาว
ถ้าเกิดปัญหาขึ้น เราจะทำอย่างไร ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เพราะแค่พลังงานที่ผลิตเองในประเทศ ก็ยังมีจำกัด หากเป็นเช่นนั้นเรามีปัญหาแน่

“เราต้องมีออฟชั่น ดูว่าสิ่งที่เราพึ่งพาตัวเองได้มีสักเท่าไหร่ และเรืองความยั่งยืนที่พูดถึงเราจะไปอย่างไร แม้กระทั่งการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน เรารับนักท่องเที่ยวมาก ๆ แต่พลังงานเราจำกัด ต่อไปเราจะทำอย่างไร มองอะไรต่อ ก็เป็นประเด็น การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ต้องใช้พลังงาน เพราะตอนนี้หลายอุตสาหกรรม ที่เข้ามาในไทย สิ่งแรกที่เขาถามคือ มีพลังงานสะอาดให้เขาเพียงพอหรือยัง เพราะการผลิตสินค้าแต่ละประเภท ถ้าส่งออกไปยุโรป อเมริกา ต้องมีการระบุข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือใช้พลังงานทดแทนมากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่างสินค้าบางประเภทที่ยุโรปประกาศไว้ ถ้าเราปล่อยคาร์บอน ต่อหน่วยสินค้ามากกว่าเขา เขาก็จะเรียกเก็บ Carbon tax หรือภาษีคาร์บอน เรื่องนี้ก็กระทบอุตสาหกรรมในภาพรวมมากขึ้นเช่นเดียวกัน” ดร.วิจารย์ กล่าว