‘วิสาขบูชา’ VS. ‘ความยั่งยืน’ บริบทแห่งความเชื่อมโยง

by ESGuniverse, 22 พฤษภาคม 2567

‘วันวิสาขบูชา’ ของทุกปี ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่ปี ก็ยังเป็นวันสำคัญ ที่เกิดเหตุการณ์ 3 actions พร้อมกันคือ

 

1. เหตุการณ์ที่ 1 พระพุทธเจ้า ‘ประสูติ’ พระนามว่า ‘สิทธัตถะ’ แปลว่า สมปรารถนา
2. เหตุการณ์ที่ 2 พระพุทธเจ้า ‘ตรัสรู้’ ใต้ร่มต้นศรีมหาโพธิ์ ปัจจุบันเรียกว่า ต.พุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
3. เหตุการณ์ที่ 3 พระพุทธเจ้าดับขันธ์ ‘ปรินิพพาน’ หลังรับภัตตาหารบิณฑบาต

‘ความยั่งยืน’ (sustainability) ของโลก ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปี ก็ยังเป็นวาระสำคัญ ขององค์ประกอบ 3P คือ

1. โลก (Planet) หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (Environmental)
2. ผู้คน (People) หมายถึง ทรัพยากรมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม (Social)
3. ผลกำไร (Profit) หมายถึง การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic)

‘วิสาขบูชา’ และ ‘ความยั่งยืน’ ต่างมีบริบทความเชื่อมโยง ความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งกันและกัน ถ้าศึกษาศาสตร์สมัยใหม่อย่างจริงจัง จะช่วยให้เราได้เห็นถึง ความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง ระหว่างสรรพชีวิต และสรรพสิ่ง

การถือกำเนิดของพระพุทธเจ้า คือจุดเริ่มต้นของ ‘people’ ผ่านไป 35 ปี พระพุทธองค์ก็ตรัสรู้ ซึ่งเปรียบได้กับ ‘know how’ องค์ความรู้ทางด้านการจัดการ พออายุได้ 80 ปี พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ ความหมายของ ‘นิพพาน’ จึงไม่ต่างอะไรกับ ‘sustainability’ คือ ไม่กลับมาเกิดอีก ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทุกอย่างมันนิ่งแล้ว มันอยู่ตัวแล้ว ระบบมันเสถียรแล้ว และมันก็คือ ‘ความยั่งยืน’

หลักการ 3P คือ มุ่งเน้นรักษาสมดุล และนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ โดยครอบคลุมทั้งทางด้าน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

โลกผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว 3 ครั้ง ในวันนี้ วิสาขบูชา 22 พ.ค. 2567 เราต่างกำลังอยู่ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” บนโลกใบเดิม แต่สรรพสิ่งเปลี่ยนไป จากหน้ามือเป็นหลังมือ

มีคนอื่น ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ เข้ามาล่วงรู้ความคิดของเรา ก่อนที่เราจะคิดเบ็ดเสร็จเสียอีก หนึ่งในนั้นก็คือ อีตา ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Facebook

ธุรกิจในยุคแรก ๆ ยังไม่คิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่คิดจะเผื่อแผ่สังคม ร่องหยักในสมอง มีแต่เรื่อง กำไร กำไร และก็กำไร คนก็เลยเหมือน ‘วัตถุ’ กลายเป็นฟันเฟืองในโรงงาน เป็นได้แค่ ‘แรงงาน’ ที่วนทำงานซ้ำ ๆ รอวันขาดใจตาย

การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เปรียบเหมือนโนว์ฮาวการจัดการ ที่จัดเรียงอย่างลงตัว ไม่ต่างอะไรกับ ‘fragmentation’ ที่บริหารการจัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ให้ถูกนำไปใช้ อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่เปลือง RAM และการก้าวเข้ามาของ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4’ คือ know how ล่าสุด ที่กำลังมาเปลี่ยนอะไรที่ไม่ใช่ (no) ให้รู้ว่าอะไรที่ใช่ (know) เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ (understand) และบางอ้อ เสียที

สมัยก่อนถ้าใครสักคน ลุกขึ้นมา แล้วบอกว่า “อยากไปให้ถึงนิพพาน แบบพระพุทธเจ้า” ก็คงโดนทัวร์ลง แบบไม่ได้ผุด ไม่ได้เกิด หาว่าเล่นของสูง หรือหมิ่นศาสนา บ้างล่ะ

ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว นิพพาน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย มันเป็นธรรมชาติ เสียด้วยซ้ำ เพราะนิพพานก็คือ ตาย คนเรา เกิดและตาย อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ใช่ตาย เพราะเตาอั้งโล่ หรือกระโดดตึกสูงตาย แต่เกิดตาย เกิดตาย และเกิดตาย อยู่ทุกขณะจิต ตายแล้วเกิด ในทุกเข็มวินาทีที่กระดิกไป

‘นิพพาน’ คือ การไม่วน loop อีก ไม่ต้องรอให้พระเจ้ามาสร้างโลกใหม่ หลังเกิดการล่มสลาย ธรรมชาติไม่ถูกทำลายซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเกิดเป็นซีรีย์หนังหลอกเด็ก ในภาคล่าสุดอย่าง ‘Kingdom of the Planet of the Apes’ ที่คนมันไม่เวิร์ก จนต้องให้ลิงมายึดอำนาจ แล้ว lead โลกเสียเอง

หรือในชีวิตจริง ทั้งคนและธุรกิจ ต้องการแบบนั้น?

ทั้ง ‘นิพพาน’ และ ‘3P’ จึงเป็นบริบทง่าย ๆ ไม่เวิ่นเว้อ แค่ทำอะไรก็ได้ ให้ ‘กาย’ กับ ‘ใจ’ อยู่ร่วมกันอย่างสงบ และแค่ทำอะไรก็ได้ ให้ ‘คน-สัตว์-ธุรกิจ' กับ ‘ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม’ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เทศกาลวันวิสาขบูชา ประจำปี 2567 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางศาสนา ถ้าใครไม่สะดวกไปวัด อยากนอนตื่นสาย แล้วไปกินหมูกระทะตอนแดดร่ม เพียงแค่ ทำจิตใจให้สงบ รักษาศีล และปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ก็ถือเป็นการสะสมบุญบารมี มากพอแล้ว

ซีรีย์ความยั่งยืน ที่ต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เป็นอีกวาระสำคัญของชาวโลก เป็นภาคบังคับ ไม่อยากทำก็ต้องทำ หน้าที่ขององค์กรคือ หมั่นฝึกสติให้องค์กรสงบ (mindfulness organization) อย่าฟุ้งซ่าน มองหาแต่ผลกำไร เพราะมันระยะสั้น แต่การใส่ใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไป มันเป็นระยะยาว สถานีปลายทางคือ ความยั่งยืน โดยใช้เครื่องมือ ‘ESG’ เป็นเรดาร์นำทาง ภายใต้เกณฑ์ SDGs (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ที่ไม่ต่างอะไรกับ การบังคับใช้กฎหมาย

สิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตบนโลก จะได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘next normal’ (วิถีชีวิตถัดไป) คือ ได้ใช้ชีวิตรูปแบบใหม่อย่างสบายใจ และสงบสุข ในสังคมทุกช่วงวัย หลังผ่านความบอบช้ำจากวิกฤติการณ์โควิด 19 มาเกินพอแล้ว

องค์การสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้ ‘วิสาขบูชา’ เป็นวันสำคัญของโลก เพื่อให้ชาวพุทธได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน น้อมรำลึกถึงศาสดาในศาสนาพุทธ

และก็องค์การสหประชาชาติอีกเช่นกัน ที่กำหนดให้ ‘SDGs’ เป็นเป้าหมายสำคัญของโลก เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึง 3P เคารพ ให้เกียรติ และใส่ใจความยั่งยืน ทุกตารางเมตรบนโลกร่วมกัน...