แนวคิด Regenerative กอบกู้ฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อลูกหลาน

by ESGuniverse, 10 พฤษภาคม 2567

แนวคิด Regenerative ต่อยอดพัฒนาเรื่องความยั่งยืน ด้วยการหันกลับไปกอบกู้ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลูกหลาน

 

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบรอบด้านไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น อากาศร้อนจัด แต่ยังกระทบไปถึงผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ออกดอกออกผลตามฤดูกาล หรือคุณภาพไม่ดีเท่าเดิม ข้าวของก็แพงขึ้น ทรัพยากรที่มีบนโลกก็เริ่มร่อยหรอลงไปทุกที มีให้เหลือใช้อย่างจำกัดเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหา ด้วยการกอบกู้ ฟื้นฟู ทรัพยากร โลกก็จะไม่เหลืออะไร และไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนสามารถอยู่ได้

จากงานเสวนา ESGNIVERSE 2024 : Real – World of Sustainability จัดโดย BRAND BUFFET เว็บไซต์ข่าวสารการตลาดและธุรกิจออนไลน์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีวิทยากรชื่อดังจากหลากหลายวงการธุรกิจของเมืองไทย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมอัพเดทเทรนด์และความเคลื่อนไหวเรื่อง “ความยั่งยืน” ตามหลักของ ESG ให้เพื่อให้นักธุรกิจ นักการตลาด และผู้บริหารองค์กรนำไปปรับใช้

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brands ประเทศไทย หนึ่งในวิทยากร เปิดมุมมองถึงสภาพปัญหาโลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ คนบนโลกใช้ทรัพยากรเกินพอดี ทำให้หลายองค์กรกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainable หรือความยั่งยืนมากขึ้น

“ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงความยั่งยืน เราจะพูดกันอยู่ในเรื่อง 3R คือ Reuse, Reduce, Recycle ซึ่งทั้ง 3 คำนี้ยังโฟกัสที่ปัจจุบัน คือ เน้นการนำกลับมาใช้ซ้ำ ลดการใช้สิ่งที่ย่อยสลายยาก เช่น พลาสติก และการเปลี่ยนรูปแบบของที่เคยใช้แล้วผ่านกรรมวิธีให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประโยชน์ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม สิ่งแวดล้อม และผ่านช่วงโควิดมา เริ่มพบว่า วิธีการที่ทำอยู่เหล่านี้อาจไม่เพียงพอ จึงเกิดแนวคิดแก้ไขปัญหาเพิ่มไปอีกขั้น สู่เส้นทาง ‘Regenerative’ มีความหมายใกล้เคียงกันกับ คำว่า ‘Restore’ คือการดึงกลับมา หมายความว่า การฟื้นฟู เยียวยา ทำให้โลกและระบบนิเวศกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ดังเดิม จึงจะสร้างความยั่งยืนให้กับโลกอย่างแท้จริง โดยการหันกลับไปดึงเอาสิ่งที่เคยเป็นความอุดมสมบูรณ์ พร้อมกันกับ พยายามฟื้นคืนสิ่งที่เคยเป็นทรัพยากรสำคัญกลับมา"

“การคิดแบบ Regenerative คือการคิด และนึกถึงระบบนิเวศ (Ecosysem) ทั้งหมด สมมติถ้าเราจับปลามา เดิมเราจะนึกถึงหลักการ zero waste ทำยังไงไม่ให้เหลือเศษปลา แต่ถ้านึกถึงทั้งอีโค่ซิสเต็ม จะต้องคำนึงว่า ต่อไปทำยังไงถึงจะมีปลาอยู่ในน้ำเหมือนที่มันเคยมี ไม่ได้ดูแค่ว่าจะจับปลาแบบไหน จับในฤดูกาลไหน แต่จะต้องดูที่การกอบกู้คุณภาพของน้ำ ทำยังไงคุณภาพของน้ำจะดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีปลาในบ่อเพิ่มขึ้น และอุดมสมบูรณ์ขึ้น ยังมีน้อยคนที่ใส่ใจเรื่องนี้ ฉะนั้นถ้าเรากำลังพูดเรื่องความยั่งยืนในอนาคต ก็ต้องกลับไปดูพื้นฐาน หรืออีโค่ซิสเต็มที่เป็นภาพใหญ่ ของระบบต่าง ๆ”

มนุษย์ต้องเคารพธรรมชาติ อย่าไปควบคุม

ดร.ศิริกุลกล่าวต่อว่า เหตุผลที่เราต้องย้อนกลับไปดูที่ระบบนิเวศทั้งหมด เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการสะท้อนถึงการหันกลับไปเคารพธรรมชาติด้วย จงต้องเรียนรู้กระบวนการทำงานของธรรมชาติ ศึกษาทำความเข้าใจ ไม่คิดยกตัวเองมาควบคุมธรรมชาติ ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่ควรทำตัวเก่งเหนือธรรมชาติ และพยายามควบคุมธรรมชาติทุกอย่าง จนถึงวันหนึ่งธรรมชาติกลับมาเอาคืน เพราะมีความรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่มีใครอยู่เหนือธรรมชาติได้

“คนไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่คนเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ฉะนั้นอย่าพยายามควบคุมสิ่งที่อยู่ในจักรวาล แต่จะต้องเรียนรู้และเคารพการอยู่ด้วยกัน”

Biomimicry เรียนรู้การทำงานของธรรมชาติ
กลไกความเป็นอยู่ระบบนิเวศ

ดร.ศิริกุล ยกรูปแบบการเรียนรู้อย่างเคารพธรรมชาติ ผ่านแนวคิด คำว่า ‘Biomimicry’ หรือ การลอกเลียนแบบกระบวนการเติบโตทางชีวภาพ ถือเป็นศาสตร์ใหม่ นำไปสู่การออกแบบ โดยเริ่มต้นจากการเข้าใจกลไกการทำงานของธรรมชาติ ความสัมพันธ์กันของระบบนิเวศ เช่น ทำไมน้ำสามารถมันกลิ้งบนใบบัวได้ แปลว่าบนใบบัวจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้น้ำเกาะได้

“อีกตัวอย่างเช่น รถไฟชินคันเซ็น ตอนที่สร้างใหม่ ๆ เวอร์ชันแรกเร็วมาก จอดแทบไม่ได้เลย พอจอดเมื่อไหร่บ้านแถวนั้นกระจกแตกหมด เพราะว่ามันวิ่งด้วยความเร็วสูง คนที่ดีไซน์ วิศวกร ก็เลยต้องหาทางแก้ไข เพราะว่าระบบอะไรดีแล้ว แต่ทำไมยังสร้างปัญหา

เขาจึงหาวิธีการแก้ไขปัญหา จนได้พบการทำงานของนกกระเต็น ที่มีหัวและจงอยปากแหลม แต่เวลาจิกปลาในมหาสมุทรน้ำกลับนิ่งสนิท และได้ปลากลับคืนมา เขาเลยไปศึกษาหัวและปากของนก แล้วเอามาปรับพัฒนากับหัวรถไฟชินคันเซ็น เป็นหลักวิทยาศาสตร์ ที่เป็นความหมายของคำว่า Biomimicry การออกแบบที่ต้องเคารพว่าธรรมชาติมันมหัศจรรย์ที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักเรียนรู้ธรรมชาติ เสียดายของ”

ทำไมแบรนด์ต้องลุกขึ้นมารู้เรื่อง Regenerative?

กลับมาที่คำว่า Regenerative ถามว่าทำไมแบรนด์ต้องลุกมาใส่ใจ Regenerative ในยุคนี้ จะทำอะไรแค่ยั่งยืนอย่างเดียวแต่ไม่เข้าใจ กระบวนทัศน์ใหม่ ๆ การแก้ปัญหาของโลกมันอาจจะไม่ทันการณ์

“การพัฒนา ต่อยอดความยั่งยืน ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำอยู่แล้วไม่ดี เพราะว่าการทำความยั่งยืนมิติอื่นๆ ยังสำคัญ เพียงแต่ว่าใครที่มีแรงทำอะไรที่ก้าวข้ามอีกขั้น ( Next step) สามารถลุกขึ้นมาสร้างพลังบวก ( Next positive) ได้ แน่นอนว่ามันดีกว่า เราอยากให้มันมีการฟื้นฟู กอบกู้กลับคืนมา เมื่อนำทรัพยากรมาใช้ ก็ควรคืนกลับไปสองเท่า ไม่ใช่เอาไป 5% คืน 5% แต่หากมีพลังมากขึ้นเอาไป 5% ก็ควรจะคืนซัก 15% เลยไหม จะได้ช่วยให้อนาคตของลูกหลานมีทรัพยากรใช้อีกต่อไป”

เพราะฉะนั้นเวลาลุกขึ้นมาทำแบรนด์ดิ้ง ถือเป็นการสร้างพลังของแบรนด์ มายกระดับพัฒนาเรื่อง Product Marketing ดำเนินการทั้งระบบ แบรนด์เล็ก ๆ ก็ทำในสเกลเล็ก ๆ ก็ได้ เริ่มจากเปลี่ยนทัศนคคติ (Mindset) หากไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่ความยั่งยืนได้ยาก จึงต้องปรับมาหาวิธีกลั่นกรอง ใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณ ใช้อย่างมีสติ ตามรอยศาสตร์พระราชา ที่สอนเรื่องเดินทางสายกลาง การใช้พอประมาณ นี่คือโซลูชั่นนำไปสู่ความยั่งยืน

“ความอยากพอดีๆ มันโอเค แต่อะไรที่มันอยากมากไป หรือโลภมากเกินไป เพราะฉะนั้นต้องเอาเรื่องพวกนี้มาช่วยบริหารจัดการ แล้วเวลาบริหารจัดการต้องดูทั้งอีโค่ซิสเต็ม ทุกชีวิตในระบบต้องเกื้อกูลกัน ถ้าไม่เข้าใจ การแก้ปัญหาเราก็จะทำแต่การออกแบบความคิด ( Design Thinking) ไม่ทำ การออกแบบระบบกระบวนการความคิด (System Thinking) ก็จะเป็นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น แต่ไม่เข้าใจว่าโซลูชั่นนี้ ก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอย่างไรบ้าง”

ทุกธุรกิจต้องเข้าใจมิติยั่งยืนก่อน

ดร.ศิริกุล กล่าวอีกว่า การทำแบรนด์ที่ใส่ใจ Regenerative มากขึ้น คือ แบรนด์ต้องเข้าใจว่าไม่ได้มีหน้าที่แค่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งไม่เคยเพียงพอ เพราะความต้องการของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด หลายองค์กรต้องเริ่มกลับมาตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำอยู่นั้น มีความยั่งยืน และดีพอหรือยัง ผลลัพธ์ของโปรเจกต์ วัดเคพีไอ ที่อาจจะไม่เพียงพอ

“ บางองค์กรหนักเลยคือ ยิ่งทำยิ่งงง จากที่เมื่อก่อนตอนเริ่มทำคือภาพชัดเลย ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่า มีใครมาบอกสักนิดนึงก็ดีว่าอันนี้ไม่ใช่ทางของเธอ ทำแบบนี้แล้วได้อะไรกับองค์กรของเธอ ทำไปไม่รู้เลยว่า CSR Inprocess หรือ After Process ทำแล้วไม่รู้ได้อะไร แต่พอดีเรื่องนี้กำลังมา ก็เลยทำ นี่คือสิ่งที่หลายองค์กรเผชิญอยู่ เราถึงได้มีเครื่องมือว่าถ้าอยากจะเปลี่ยนต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจก่อน ถึงจะไปสู่ความยั่งยืนได้”

สิ่งสำคัญจะอยู่ที่เป้าหมายของแต่ละองค์กร แต่ละธุรกิจ แต่ละแบรนด์ว่าเป็นอย่างไร สร้างผลกระทบเชิงบวกในแง่สังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ตอบโจทย์ ESG คนที่เข้าใจเรื่องความยั่งยืนอาจเป็นคนเขียนรายงาน แต่ถามว่าคนในองค์กรฝ่ายอื่นๆ เข้าใจหรือไม่

ปลาในมหาสมุทรอาจหายไป

จากงานวิจัยของสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2048 จะไม่มีปลาในมหาสมุทรแล้ว ป่าไม้ที่เป็นแหล่งโอโซนของโลกเริ่มร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ และอีกไม่นานจะหมดไป ถ้าหากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย ต่อไปแผ่นดินก็จะแห้งแล้ง เพราะไม่มีต้นไม้ และไม่มีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ นี่คือเหตุผลที่เราจะต้องลุกขึ้นมาปรับปรุง ฟื้นฟู กู้คืน ในวันนี้

นี่คือโอกาสอันท้าทายความสามารถของแบรนด์ลุกมาทำช่วยกันกอบกู้ทรัพยากร สร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจ เอามาช่วยคลี่คลายปัญหาสังคม โดยไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนบทบาท แต่ทำในสิ่งที่แบรนด์เก่ง เข้าไปเอื้อเฟื้อผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมไม่ให้ย่ำแย่ไปเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น

“คนจนก็ยิ่งจนไปอีก จนถึงขนาดที่เด็กในแอฟริกาใต้ต้องกินดิน รวยก็ยิ่งรวยไปอีก ทรัพยากรต่างๆ จะหายากมากขึ้น เรื่อง Climate change ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ลูกค้าวันนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้เรื่อง เขาจะงงเลยว่าทำไมแบรนด์นี้ไม่ทำ ทำไมแบรนด์ที่เรารักไม่ทำอะไรเลย”

ผลสุดท้าย เมื่อแบรนด์ขาดความเชื่อมั่น ผลกระทบจะตกไปสู่การค้นหาคนเก่งมาร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายธุรกิจ

“ปัญหาของทุกบริษัทคือ ถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย ก็จะไม่มีทางได้คนเก่งมาทำงานด้วย เพราะเด็กรุ่นใหม่จะเลือกทำงานกับบริษัทที่เติมความหมายให้กับชีวิตเขา ไม่ใช่แค่จ่ายเงินเดือนอย่างเดียว ก็อาจจะเสียโอกาสในเรื่องการทำธุรกิจมากมาย”


ทรัพยากรเป็นของลูกหลาน ไม่ได้เป็นของเรา

ท้ายที่สุด ดร.ศิริกุล กล่าวว่า ถ้าเราไม่กอบกู้ฟื้นฟูธรรมชาติคืนมา ก็จะไม่หลงเหลือสิ่งใดเก็บไว้ให้ลูกหลาน เพราะวันนี้ทรัพยากรไม่ได้เป็นของเรา อย่าทำงาน ทำธุรกิจด้วยความเชื่อที่บอกว่า เราจะใช้ทรัพยากรแล้วเหลือไว้ให้ลูกหลาน

“เพราะทรัพยากรเป็นของลูกหลาน จะเอาของเขามาใช้ เกรงใจเขาบ้าง เพราะทรัพยากรไม่ได้เป็นของเรา ทรัพยากรเป็นของอนาคต”