เอสซีจี เปิดเส้นทางสังคมกรีน ให้โอกาสทุกเจนเปล่งพลังกู้โลกเดือด

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ , 9 พฤษภาคม 2567

เอสซีจี เปิดเส้นทางเดินสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่กรีน ชวนคนมีไฟทุกเจน ทุกเพศทุกวัย ร่วมปล่อยแสง คิดไอเดียหลากนวัตกรรดับความร้อนแรงคาร์บอนสู่กำไร สร้างสังคมกรีน เติบโตเคียงข้างสังคมดี ชีวิตมีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมสมดุล ตั้งงบลงทุนหมื่นล้านเปลี่ยนผ่านยั่งยืน

 

 

วาระสำคัญของโลกตามพันธสัญญา องค์การสหประชาชาติ (United Naitons-UN) ทุกภาคส่วนจะต้องมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไทยเป็นหนึ่งใน 198 ประเทศที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ เดินหน้าตามทิศทางโลก ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก แก้วิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง กำหนดเป้าหมายหลักว่าประเทศไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)

เอสซีจี องค์กรที่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้งปี 2456 จนก้าวสู่ปีที่ 111 ได้ประกาศเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2593 ก่อนเป้าหมายรวมของประเทศ โดยเริ่มต้นเป้าหมายแรกลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตภายในองค์กร 25% ภายในปี 2573 โดยอสซีจีใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในกระบวนการ


นั่นหมายถึง เส้นทางก้าวไปสู่ธุรกิจคาร์บอนเป็นศูนย์ใช้เวลา 26 ปี (ปี 2567-2593) ที่จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตภายใน พลังงาน และสินค้าให้เป็นคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Circular Economy) โดยที่ธุรกิจยังเติบโตมีกำไร พร้อมกันกับโอบอุ้มสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน จึงถือได้ว่าเป็นผู้พาธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมยั่งยืนควบคู่ไปด้วยกัน ที่เอสซีจี เรียกว่า “Inclusive Green Growth”

 


เส้นทาง 26 ปี 3 ซีอีโอ
พาองค์กรกู้โลกเดือด

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองถึงการเดินทางของการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ เป้าหมายปลายทางของเอสซีจี (Purpose) คือ Inclusive Green Growth สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเติบโต สิ่งแวดล้อมสมดุล และสังคมอยู่ดีมีสุข ภายในปี 2050

“เราพยายามเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรมที่เราผลิต ไม่ว่าจะเป็น ซีเมนต์ , แพคเกจจิ้ง, เคมีคอลล์, ให้ไปสู่ สิ่งที่เรียกว่า โลว์คาร์บอน, ความเป็นกลางทางคาร์บอนจนถึงเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 นั่นหมายถึงอาจจะต้องใช้ซีอีโอของเอสซีจีถึง 3 คน หน้าที่ผม จากวันนี้จนถึงโลว์คาร์บอน ลดให้ได้อย่างน้อย 25% คนที่รับไม้ต่อจากผม จะต้องส่งต่อจากโลว์คาร์บอน ไปสู่ คาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutrality) และคนที่ 3 จะรับส่งสู่ Net Zero จะเห็นว่า การเดินทางใช้เวลา 26 ปี”

 



3 ความท้าทาย ต้องก้าวข้าม คว้าโอกาส

หมุดหมายที่จะเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่net zero คาร์บอนลด แต่ธุรกิจะต้องเติบโต มีความท้าทาย 3 ประเด็น

1,เทคโนโลยี เราต้องการเทคโนโลยีใหม่ เปลี่ยนพลังงานที่ใช้เป็นพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ มีการปรับโครงสร้างการผลิต ลดการใช้พลังงาน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนา ซึ่งในปีที่ผ่านมา สามารถลดการใช้ถ่านหินลงได้ถึง 40% และเพิ่มเป็น 50% ในปี 2567 รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และลดการใช้ทรัพยากร สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สอดคล้องกันกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Ecoonmy) เช่น การคิดค้น ผลิตปูนลดโลกร้อน… , พลาสติกจากพืช

“เราต้องค้นหาเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตภายใน และสินค้าให้ลดการปล่อยคาร์บอน”

2.ความต้องการลูกค้า (Market) เปลี่ยนไป การพัฒนาสินค้าโลว์คาร์บอน เป็นคำตอบให้กับโลก แต่ก็ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ไม่เพียงซื้อเพราะโลว์คาร์บอน แต่ช่วยตอบโจทย์การใช้ง่าย การมีนวัตกรรมการใช้งานใหม่ ให้กับลูกค้า เช่น หลังคา ไม่ใช่แค่เพียงดีไซน์สวย แต่ยังช่วยลดคาร์บอน และลดค่าไฟฟ้า จึงถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน

3.กฎระเบียบจากภาครัฐ มีการออกกฎหมายเพิ่มขึ้นมากมาย ที่เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การเปลี่ยแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …ที่กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ,มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU)ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้าไปใน EU ตลอดจน ISSB หรือ International Sustainability Standards Board (คณะกรรมการมาตรฐานด้านความยั่งยืนระหว่างประเทศ) ได้ออกกฎเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน หรือ ESG จำนวน 2 ชุด คือ เกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาวะภูมิอากาศ (IFRS S2) และเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั่วไป (IFRS S1) เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา

 

 

3 โอกาส แปลงไอเดียใหม่ ให้กลายเป็นจริง

ทั้ง 3 ปัจจัยคือความท้าทายที่เอสซีจี จะต้องปรับตัวพร้อมรับมือเปลี่ยนผ่าน โดยการแสวงหาความร่วมมือทำงาน แปลงความท้าทายให้กลายเป็นจริง‘องค์กรแห่งโอกาส’(Organization of Possibilities) เพื่อให้ทุกคนทั้งพนักงาน พาร์ตเนอร์ คนทุกเจน มีพื้นที่แสดงพลังและปล่อยแพสชันไร้ขีดจำกัด คิดทำนอกกรอบ ทดลองเรียนรู้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมกรีนที่ตอบโจทย์ลูกค้า สังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ เอสซีจี องค์กรแห่งโอกาสต่าง ๆ ประกอบด้วย

1. โอกาสเปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรม เช่น ให้พนักงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการกับโครงการสตาร์ตอัพภายในองค์กร ‘ZERO TO ONE by SCG’โดยติดอาวุธทักษะความรู้ ตั้งแต่เริ่มทำความเข้าใจลูกค้า ค้นหาปัญหา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า และการขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม อาทิ Design Thinking, Generative AI, Data Analytics ปัจจุบันมีผู้ร่วมกว่า 800 คน และมีสตาร์ตอัพในโครงการ 100 สตาร์ตอัพเช่น ‘Wake Up Waste’ แพลตฟอร์มรถบีบอัดขยะ ช่วยให้ขยะเล็กลง ขนส่งได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ‘Dezpax’ แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ฟู้ดเดลิเวอรี่ และคาเฟ่

 

ขณะเดียวกัน ยังเปิดเวที ‘SCG Young Talent Program’ บ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยทุกชั้นปี ทุกสาขา ผ่านการทำงานกับเอสซีจี แบบทำจริง เจ็บจริง (Bootcamp) เป็นเวลา 13 สัปดาห์ เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมดิจิทัล ตอบเทรนด์อนาคต มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมแล้วกว่า 850 คน นอกจากนั้น สนับสนุนให้พนักงานทุกระดับเสนอไอเดียพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ได้เสมอ สร้างวัฒนธรรมเปิดใจ ใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พัฒนาตัวเอง ไม่ยึดติดจากความสำเร็จเดิม (Open & Challenge)

2. โอกาสพัฒนานวัตกรรมระดับโลก สนับสนุนการวิจัยภายในองค์กรและร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เช่น ร่วมกับ ‘Norner AS’ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสติก ประเทศนอร์เวย์ และ ‘มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด’ ประเทศอังกฤษพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน รวมทั้ง ร่วมมือกับสตาร์ตอัพจากสหรัฐอเมริกา ‘Rondo Energy’เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด

3. โอกาสร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อรวมพลังสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน เช่น ขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ สร้างเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย พาไทยมุ่งสู่ Net Zero ทั้งนี้ ปี 2567 เอสซีจีตั้งงบพัฒนากระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำและนวัตกรรมกรีนกว่า 10,000 ล้านบาท

 



“การพัฒนานวัตกรรมกรีนเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาโลกเดือด จึงชวนทุกคนช่วยกันแก้โจทย ์ทั้งเทคโนโลยี ความเข้าใจลูกค้าและตลาด รวมถึงกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เชื่อว่า ‘พลังของคน’ เป็นหัวใจในการเปลี่ยนแปลง เอสซีจีเป็นองค์กรแห่งโอกาส เปิดกว้างให้ทุกคน ทั้งพนักงานเราและไม่ใช่พนักงานเรา ทุกภาคส่วนที่มีแนวคิดดี ๆ มีแพชชั่น (แรงปรารถนา) ต้องการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมสู่คาร์บอนต่ำ แปลงไอเดียมาสู่การนวัตกรรม ให้กลายเป็นจริง โดยเอสซีจีจะสนับสนุน”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ยังกล่าวว่า นอกจากนี้จะเข้าไปสนับสนุนการพัฒนา สระบุรี แซนด์บอกซ์ เป็นแพลตฟอร์มเมืองต้นแบบจากศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรรมซีเมนต์ ที่จะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนในท้องถิ่น

“ถ้าเราทำเมืองสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ กล้าพูดได้เลยว่าทุกเมืองในประเทศไทยแม้กระทั่งกรุงเทพฯก็เป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้ เพราะสระบุรีเป็นฐานการผลิตซีเมนต์ของเมืองไทย หลังจากเผชิญกับโจทย์ยาก จนปรับมาพัฒนาปลูกหญ้าเนเปียร์, การใช้ปูนคาร์บอนต่ำ, สมาร์ทกริด”

 

 


ลงทุนธุรกิจกรีนกว่า 10,000 ล้านบาท
สัดส่วนกรีนเพิ่ม 67% ในปี 2030

นี่คือความยากและท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาส เอสซีจี จึงปรับตัวสู่องค์กรแห่งโอกาส ผลักดัน 3 ความเป็นไปได้ จากการข้ามไปสู่ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะเชื่อในศักยภาพและความสามารถของของคน หรือ Passionate People หลอมรวมมคนที่มีฝันสร้างความเปลี่ยนแปลงมารวมตัวกันเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ เพื่อทำให้โลกดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้มีการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่ารวมราว 10,000 ล้านบาท ใน 3 กลุ่มหลัก ๆ ที่จะสร้างโอกาสเติบโต ประกอบด้วย การลงทุนในกลุ่มเคมีคอลลส์ เช่น พลาสติกชีวภาพ รองลงมาคือกลุ่มซีเมนต์และก่อสร้าง ที่จะต้องพัฒนาเร่งการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น จาก 40% เพิ่มเป็น 70%

เอสซีจี เชื่อว่า ตามหมุดหมายแรกในปี 2030 ตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนได้ไม่ต่ำกว่า 25% โดยที่ จะทำให้ทั้งกลุ่มธุรกิจมีผลิตภัณฑ์ สินค้ารักษ์โลก ที่เป็นสีเขียวเพิ่มผลิตทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นสัดส่วน 67% ในยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 53-55%