เปิดกลยุทธ์ TCP เครื่องดื่มชูกำลัง สร้างการเติบโตคู่โลกยั่งยืน

by ESGuniverse, 9 พฤษภาคม 2567

TCP เครื่องดื่มชูกำลังของไทยที่สามารถปักธงแบรนด์ดังระดับโลก ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อการเติบโตก้าวสู่ความยั่งยืนครบทั้งห่วงโซธุรกิจ ผ่าน 4 กลยุทธ์ นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ , ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน, เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

 

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดูเหมือนจะกลายเป็นโจทย์บังคับสำหรับหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดคาร์บอน การจัดการน้ำภายใน การทำผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างความมั่นคง ลดขั้นตอน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของคนและองค์กรให้เกิดความยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก

TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม ไฮ่! เพียวริคุ ซันสแนค และวอริเออร์ ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่ม พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการ เติบโต สร้างแบรนด์เปี่ยมมูลค่าและสร้างการเติบโตทางรายได้ไปพร้อมกับคู่ค้าทั้งห่วงโซ่อุปทาน และห่วงใย สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบายความยั่งยืนในทุกกระบวนการทำงาน

 

 

 

ทำธุรกิจควบคู่กับการตอบแทนสังคม

กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ Integrity, Quality, Harmony ครอบคลุม ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งผสานแนวคิดด้านความยั่งยืนในทุกกระบวนการของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์องค์กร ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชน รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย คำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง

ในแง่ของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม TCP มีการติดตั้งโซล่าเซลล์เกือบทุกโรงงานผลิต ไม่ได้ซื้อไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่เพียงอย่างเดียว แต่มีการซิงค์ไฟร่วมกับโซลาร์เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการใช้โซลาร์กำลังผลิต 12.27 เมกกะวัตต์ เทียบแทนไฟฟ้า 4.5 ล้านกินโลวัตต์ หรือคิดเป็น 25% ต่อวัน

พื้นที่ภายในโรงงานมีการกักเก็บน้ำดิบ ระยะเวลาสามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม 1 ปี ไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน นำกลับมาบำบัดเป็นน้ำประปาและน้ำ RO รดน้ำต้นไม้และใช้สอยภายในโรงงานบนพื้นที่ 2,000 ไร่ ในอนาคตมีแผนเพิ่มรถไฟฟ้าขนส่งนำร่องระหว่างส่งของในโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีการใช้โฟล์คลิฟท์แบตเตอรี่น้ำภายในโรงงาน และจะพัฒนาไปสู่แบตเตอรี่แบบไออ้อนลิเทียมในอนาคต

 

 

 

ก้าวสำคัญ ปรับโครงสร้างผลิต
พิชิตเส้นชัย ความยั่งยืน

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญทุกฝ่ายในบริษัทต้องร่วมมือกันเพื่อให้โลกยั่งยืนกว่านี้ ทางบริษัทมีโจทย์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน คือเรื่องของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปีนี้ ซึ่งใกล้บรรลุผลแล้วเหลือเพียงผลิตภัณฑ์ซันสแน็ก ในส่วนของการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ตอนนี้บริษัทฯทำได้แล้ว และจะมุ่งพัฒนาต่อไปในโรงงานผลิตต่างประเทศ

เรื่องที่ท้าทายที่สุดคือเรื่องการปล่อยคาร์บอน สำหรับเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน บริษัทฯก็พยายามทำเต็มที่ แต่ยังต้องรอในเรื่องของเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การใช้โซลาร์รูฟก็เป็นเทคโนโลยีที่แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ในเรื่องของพลังงาน แต่เรื่องของรถขนส่ง แม้ว่าจะมีการใช้รถขนส่งพลังงานพลังงานไฟฟ้า แต่ก็ยังเป็นเพียงขนาดทดลอง เนื่องจากยังไม่มั่นใจว่าเป็นโซลูชั่นจริงไหม ด้วยปัจจัยของแบตเตอรี่ที่ยังไม่เสถียร ใช้เวลาชาร์จนาน ซึ่งรถบรรทุกต้องวิ่งตลอดเวลาจึงจะคุ้มทุน รถไฟฟ้าจึงยังไม่ใช่ขนส่งที่ตอบโจทย์สำหรับการลดคาร์บอนฟู้ดพริ้นท์ในส่วนนี้

“ในเรื่องของการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ รัฐบาลมีการสนับสนุน แต่ยังคงมีปัญหาในภาคส่วนของโรงงานที่อาจยังไม่พร้อมในบางพื้นที่ และหลักเกณฑ์กฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ เครื่องมือที่ขยายความรับผิดชอบไปยังภาคการผลิตผ่านวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ยังคงต้องดำเนินการต่อไป โดยมีข้อเสนอแนะให้ตั้งองค์กรร่วมกันกับผู้ผลิตรายอื่นๆและภาครัฐสำหรับการจัดการวัสดุตลอดอายุบรรจุภัณฑ์”

 

 

 

ถอดรหัส 4 กลยุทธ์
พุ่งสู่เป้าหมายปลายทางความยั่งยืน

ในส่วนของกลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ TCP ที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 4 หัวข้อดังนี้

1.นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจ TCP จึงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้บริโภคและ ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อโลก ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด โดยใช้ข้อมูล วิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยทีมทำงานที่มองหาวิธีการทำงานรูปแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหนือความคาดหวังของผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคพร้อมความยั่งยืนทางธุรกิจ มุ่งสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรม ส่งมอบ สินค้าคุณภาพดี ที่มีคุณค่าต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

2.ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2567 และมุ่งมั่นนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในทุกกระบวนการทำธุรกิจ และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยกลุ่มธุรกิจ TCP นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในทุกกระบวนการทำธุรกิจและกำหนดเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กร มุ่งเน้นการออกแบบให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียนได้มากที่สุด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดปริมาณการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพจนเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนทรัพยากรต่อเนื่องในระบบปิด โดยไม่มีการส่งของเสียออกนอกระบบ นอกจากนี้ยังสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อลดผลกระทบเชิงลบและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจ

3.มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 จากทุกกระบวนการทำงานทั้งธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศผ่านการ ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ใช้พลังงานจากแหล่งที่สามารถนำมาใช้แล้วไม่มีวันหมดไปเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) พลังงานชีวมวล (Biomass) บริหารจัดการและควบคุมการจัดเก็บสินค้า รวมถึงการกระจายสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ปรับขนาดรถขนส่ง วางแผนเส้นทางการขนส่งและบริหารลดรอบการขนส่ง เลือกใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ช่วยลดคาร์บอนจากกระบวนการขนส่ง การลดการใช้พลังงานในคลังสินค้า

4.การประยุกติใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นแบบอัตโนมัติและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Smart Manufacturing) สามารถช่วยลดเวลาลดต้นทุน ลดข้อผิดพลาด ประหยัดพลังงาน พร้อมพัฒนาการผลิตสินค้าได้ดีขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของการประยุกติใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นแบบอัตโนมัติและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Smart Manufacturing) จะช่วยให้เห็นภาพกระบวนการที่ชัดเจนขึ้น ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพจากเครื่องจักรเดิมให้มีคุณภาพมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงจากในกระบวนการ ช่วยให้รับรู้ถึงคุณภาพของเครื่องจักร ทำให้ผลิตสินค้าออกมาได้อย่างมีคุณภาพ ถูกต้องตามมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนเทคโนโลยีควบคู่ไปกับทัศนคติของพนักงานในโรงงาน สู่กระบวนการที่มีคุณภาพ คุ้มค่า ยั่งยืนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

 

และยังมีในด้านการบริหารจัดการผลกระทบจากการใช้น้ำตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งในประเทศไทยทำได้แล้ว จะขยายผบต่อไปในโรงงานต่างประเทศในอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่การดูแลรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้ใช้น้ำน้อยลง การใช้น้ำให้คุ้มค่าโดยการนำน้ำเสียผ่านการบำบัดกลับมาใช้งาน และร่วมกับพันธมิตรในการพื้นฟูระบิดที่เทียวของกับแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำสะอาดให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Water Replenishment) รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพความมั่นคงลดความเสี่ยงและผลกระทบต่างๆ

การบริหารจัดการน้ำดิบ และ น้ำใช้ อย่างยั่งยืนตามหลัก 4R

Resource จัดสรรพื้นที่การเก็บกักสำรองน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตบริหารการดึงน้ำจากแหล่งน้ำอย่างเหมาะสม

Reduce จัดทำโครงการอนุรักษ์การใช้น้ำและสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน

Reuse เพิ่มปริมาณการนำน้ำวนกลับมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ

Recycle นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดกลับมาใช้ในกิจกรรมนอกกระบวนการผลิต