ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือวิธีคิด จัดระบบสู่เป้าหมายความยั่งยืน

by ESGuniverse, 8 พฤษภาคม 2567

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิด วิธีการบริหารจัดการทรัพยากร จาก 3 ห่วง พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ย้ำเตือนให้ประมาณตน รู้ข้อจำกัด จุดแข็ง จุดอ่อน สร้างระบบสู่ปลายทางความยั่งยืน เดินบนทางสายกลาง นำไปสู่การวิเคราะห์จัดการปัญหาจากภายในสู่ภายนอก อยู่ร่วมกันกับสังคมอย่างสันติสุข พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลง

ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มองถึงความเหมือนและแตกต่างของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กับความยั่งยืน ถือเป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรพระราชทานแก่สังคมไทยตั้งแต่พุทธศักราช 2517 โดนมีหลักการปลายทางสำคัญอยู่ที่ การมุ่งมุ่งสู่ “ประโยชน์สุข” ของประชาชน ทำให้สังคมสงบสุข

“เป็นสภาวะทางจิตใจที่เป็นบวก” ที่อยู่อย่างสันติสุขท่ามกลางปัจจัยภายนอกผันแปรเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น คือ สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันทำให้ประชาชน สามารถรักษาความมั่นคงของสภาวะภายในจิตใจ ประกอบด้วย ระดับสติปัญญา วิธีคิด หลักคุณธรรมจริยธรรม ของบุคคลนั้น ประโยชน์สุข

สร้างสุขจากภายในและแบ่งปัน
สู่ภายนอกอย่างสมดุล

เมื่อเกิดความเข้าใจหลักการภายในสู่ภายนอก สามารถสร้างความสุขจากภายในและแบ่งปันสู่ภายนอกได้ ทุกภาคส่วนในสังคมหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน สร้างประโยชน์สุขร่วมกันอย่างสมดุล ร่วมมือกันพัฒนาสังคมและประเเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า อย่างสันติสุข พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลง

มิติที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญคือ มิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นการพัฒนา 3 ห่วงได้อย่างสมดุลและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ข้างต้นได้ ยืนอยู่บนกระบวนการตัดสินใจ ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการและเงื่อนไข 2 ประการ


3 ห่วงเข้าใจตนเอง บนเหตุผล
พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง


พื้นฐานของหลักการ 3 ประการ ประกอบด้วย
1.ความมีเหตุผล คือ การดำเนินการวางแผนโดยใช้องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องจากคุณค่าที่แท้จริงที่มี โดยใช้หลักคิดสมเหตุและผล คำนึงถึงผลกระทบทั้งทางบวกและลบ

2. ความพอประมาณ คือ การใช้ทรัพยากรมาดำเนินการในระดับที่พอดี สอดคล้องกับเงื่อนไข คิดหาวิธีทำให้บรรลุเป้าหมายในแบบที่ประหยัดไม่เกิดของเสียโดยไม่จำเป็น

3. มีภูมิคุ้มกัน คือ มีการพิจารณาถึงแผนสำรอง รองรับความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง


ความรู้ คู่ คุณธรรม

เงื่อนไข 2 ประการ ประกอบด้วย

1. เงื่อนไขความรู้ คือ พิจารณาจากองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีสติปัญญา พินิจ พิเคราะห์องค์ประกอบที่นำไปสู่ผลลัพธ์เกิดความสุขและประโยชน์สุข ต่อผู้เกี่ยวข้อง

2. เงื่อนไขคุณธรรม คือ อยู่บนฐานของหลักคุณธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม และสังคม

 


SDGs มตินานาชาติ สู่การลงมือทำ
เพื่อทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อโลกสงบสุข

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่นำเสนอโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีระยะเวลา 15 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2559 – 2573 โดยประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ในวันที่ 25 กันยายน 2558 เป้าหมาย SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ ครอบคลุมมิติสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) สันติภาพ (Peace) และหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ซึ่งสอดคล้องกับสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) คือ ด้านสังคม (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) และ Profit (ผลกำไร)


จัดสรรปัจจัยพื้นฐาน ลดเหลื่อมล้ำ

จุดสำคัญของเป้าหมายพื้นฐานของ SDGs คือ การมุ่งให้ทุกภาคส่วนในสังคมโดยเฉพาะคนเปราะบางเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน และสามารถรับมือกับความผันแปรของสังคมและเศรษฐกิจ
ประกอบด้วย กำจัดความยากจนในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ทุกคนไม่เบียดเบียนส่งผลกระทบต่อโลก สามารถเกื้อกูลระบบสนับสนุนสิ่งมีชีวิตได้ดำรงอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ สร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ

บูรณาการ ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หลักการที่เป็นพื้นฐานของ SDGs ที่สำคัญ มีดังนี้ คือ
-การพัฒนาครอบคลุมทุกมิติ(Inclusive Development)
การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกภาคส่วนจะต้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน จึงต้องหาวิธีการสร้างกลไกการพัฒนากระจายผลประโยชน์ ไปยังคนทุกในสังคม โดยเฉพาะคนเปราะบางและด้อยโอกาศให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนที่สั่งสมปัญหามาเป็นเวลานาน จึงต้องจัดการให้สอดคล้องกันกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาและการบริหารจัดการระยะยาวและต่อเนื่อง


-หลักการพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated Development)
การพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated Development) จึงเป็นหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หมายถึง ในการบรรลุเป้าหมาย SDGs จำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลายศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและหาหนทางเพื่อบรรลุความยั่งยืน และต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

 

ผาสุก สมดุล ทุกภาคส่วนในสังคม

ความเชื่อมโยงระหว่างหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อย่างกลมกลืน เพราะมีเป้าหมายปลายทางที่สอดคล้องกัน นั่นคือ สมดุล และความสงบสุขในทุกภาคส่วน ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางสังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือ บริบทในแต่ละวัฒนธรรม เนื่องมาจากหลัก SEP เน้นมิติวัฒนธรรมจากรากของความเชื่อด้านทางสายกลางและคุณธรรม

ขณะที่ขณะที่ใน SDGs มิติวัฒนธรรมแฝงอยู่ในหลายเป้าหมาย มีการมุ่งเน้นสันติภาพ ซึ่งในความเป็นจริงก็สอดคล้องกับความสงบและสันติสุขของ SEP รวมถึงมีส่วนที่เพิ่มในการแสวงหาความร่วมมือกันพัฒนายั่งยืน ในความเป็นจริง ของ SEP เมื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งชุมชนเข้มแข็ง ก็เกิดความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากชุมชน สังคม สู่ระดับประเทศ ก็ถือว่าเป็นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรได้เช่นเดียวกัน

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
แนวคิดประยุกต์ใช้ในเกษตรทฤษฎีใหม่

ที่ผ่านมา หลักคิดด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา SEP ถูกนำไปประยุกต์ใช้ใน ในภาคเกษตร เรียกว่า เกษตรทฤษฎีใหม่ จากการพัฒนาในพื้นที่ สู่การพัฒนาสร้างชุมชนเข้มแข็งแล้วจึงขยายความร่วมมือไปยังองค์กรภายนอกชุมชน

SDGs จะมีความชัดเจนกว่า SEP ในแง่ที่ว่า SDGs ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างชัดเจนในรายละเอียดของเป้าหมาย (Goals) พื้นฐานการพัฒนาทั้ง 17 ประการ โดยมีตั้งแต่เป้าประสงค์ (Targets) ลงลึกในรายละเอียดทั้ง169 ประการ ส่วน SEP ถือเป็นหลักคิดปรัชญากระบวนการคิด การเรียนรู้ และความศรัทธาในคุณธรรม มาเสริมให้SDGs เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

5 หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง
คัมภีร์สู่วิธีปฏิบัติยั่งยืน

SEP ให้หลักการในการดำเนินการเพื่อการบรรลุ SDGs ดังนี้คือ

1. การดำเนินการใด ๆ เพื่อบรรลุ SDGs ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (เงื่อนไขความรู้ และคุณธรรม)

2. การดำเนินการต้องพิจารณาองค์ประกอบทางเลือกต่าง ๆ ให้รอบด้าน วิเคราะห์หลักการเห็นเหตุ เห็นผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบของแต่ละทางเลือก (หลักความมีเหตุผล)

3. การดำเนินการควรใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้พอดีกับการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ไม่เกิดของเหลือ เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในครัวเรือนหรือในชุมชนอยู่ก่อนที่จะขยายไปพึ่งพาภายนอก (หลักความพอประมาณ)

4. การดำเนินการควรเตรียมการเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ (หลักภูมิคุ้มกัน)

5. การดำเนินการจะบรรลุผลได้หากเริ่มจากการระเบิดจากข้างใน เริ่มจากความเข้าใจส่วนบุคคล ท้องถิ่นซึ่งในการเริ่มดำเนินจากพื้นฐานรากวัฒนธรรมท้องถิ่น เข้ามาเชื่อมโยงคนจูงใจให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน

สิ่งสำคัญของหัวใจปรัชญา SEP ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีปลายทางอยู่ที่นำไปสู่เป้าหมาย “ความสุข” และ “ประโยชน์สุข” ของสังคมถือเป็นหลักคิดคัมภีร์ สร้างพื้นฐานและวิธีการพัฒนาในการพัฒนาที่มุ่งทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ที่มา: SDG Move

Tag :