มูลนิธิ Art for all ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ ลดความเหลื่อมล้ำ

by ESGuniverse, 8 พฤษภาคม 2567

มูลนิธิ Art for all จัดเสวนา ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ขณะที่สหประชาชาติยกเป็นวาระใหญ่ของโลก ยึดหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ปัญหาสังคมในประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหญ่ และมีความซับซ้อน ยากที่จะแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือ เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความเท่าเทียม” โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือผู้พิการ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานได้เหมือนกับคนทั่วไป รวมถึงการเข้าถึงงาน เข้าถึงอาชีพ และอีกหลายอย่าง ซึ่งหากเรื่องนี้ไม่ได้รับการ[บรรเทา ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

จากข้อมูลประมวลผลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้พิการทั้งหมดประมาณ 2,273,981 ราย (ปี 2567) ผู้พิการประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการมีงานทำ โดยมีผู้พิการเพียง 1 ใน 25 คน ที่ได้เรียนระดับอุดมศึกษา หรือผู้พิการเพียง 4 ใน 10 คนที่จะมีงานทำเท่านั้น

และมีผู้พิการเพียงร้อยละ 44.4 ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้พิการตามกฎหมาย และมีเพียงร้อยละ 43.8 ของผู้พิการทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ และมีผู้พิการอีกหลายแสนคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วย อุปกรณ์ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ทั้งยังระบุว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนความพิการสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง ถึงประมาณ 3.5 เท่า เช่นเดียวกับสัดส่วนความยากจนในครัวเรือนที่มีผู้พิการก็สูงกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้พิการด้วย

UN ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้มีแผนพัฒนาการมีส่วนร่วมของคนพิการ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ดำเนินการตามแผนระดับประเทศระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) ด้วยหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

ทั้งนี้ UN ระบุอีกว่า คนพิการจำนวนมากประสบปัญหาความยากจน โดยร้อยละ 16.1 ของคนพิการต้อง ดำรงชีวิตด้วยค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 1.25 ดอลลาร์ สหรัฐต่อวัน (ประมาณ 40 บาท) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยตระหนักดีว่าประเทศไทยจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการ พัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ หากคนพิการยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลังและไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคนพิการ

3 เสาหลักพัฒนาคนพิการ

3 เสาหลักในการพัฒนาคนพิการของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

1.ส่งเสริมสิทธิเท่าเทียม: ในการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมของคนพิการ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยทำงานสนับสนุนทั้งผู้มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองสิทธิ (dutybearers) และผู้ทรงสิทธิ (rights holders) ควบคู่กัน

สำหรับผู้มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมหรือสื่อมวลชน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจะมุ่งเสริมสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาศักยภาพให้องค์ความรู้ เกี่ยวกับสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่อง เช่นสิทธิความเสมอภาคของคนพิการและการเลือกใช้ภาษาที่แสดงถึงความเคารพและให้เกียรติคนพิการ เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของคนพิการจะได้รับการปกป้องคุ้มครองและเติมเต็ม

ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติให้ความ สำคัญกับการเสริมพลังผู้ทรงสิทธิที่เป็นคนพิการ โดยร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายในการสนับสนุนให้คนพิการ ตระหนักรู้ในสิทธิที่ตนพึงมี ตลอดจนกล้าที่จะส่งเสียงเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง

2.เสริมสร้างพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจะร่วม มือกับองค์กรเครือข่ายในการส่งเสริมการจ้างงานและการมีงานทำของคนพิการ โดยการให้คำแนะนำและการสนับสนุนแก่หน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการให้เอื้อประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและคนพิการ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติมุ่งให้ ความรู้และแก้ไขเจตคติเชิงลบที่มีต่อการ จ้างงานคนพิการของภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรที่ต้อนรับและเอื้อให้คนพิการทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากการทำงานกับนายจ้างในภาคธุรกิจแล้ว โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจะเสริมสร้างความสามารถของคนพิการ โดยเฉพาะเยาวชน ผ่านการอบรมให้ความรู้ในทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เช่น ทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการคนพิการในการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองอีกด้วย

3. ผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก: ด้วยความเชี่ยวชาญในฐานะองค์กรที่บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสามารถผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและสิ่งแวดล้อม และจะขยายงานด้านการมีส่วนร่วมของคนพิการไปยังองค์กรหุ้นส่วนอื่น ๆ ในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติทำงานใกล้ชิดและขอข้อเสนอแนะจากองค์กรคนพิการเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการกิจกรรมต่างๆของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้มีการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนพิการ

โครงการพัฒนาแห่ง สหประชาชาติในประเทศไทยยังสามารถร่วมมือกับองค์กรอื่นในเครือสหประชาชาติในการส่งเสริมการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนพิการในประเทศไทยจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาคนพิการภายใต้ 3 เสาหลักดังกล่าวมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคน พิการทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ถ้าคนพิการได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ คนพิการจะสามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนสามารถมีส่วนร่วมและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติมุ่งพัฒนาคนพิการในกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ได้แก่ เยาวชนพิการ สตรีพิการ คนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล คนพิการชาติพันธุ์ และคนพิการที่ได้รับเชื้อเอชไอวี (HIV)


รัฐบาลเร่งอัพสกิล รีสกิล คนพิการ
คาดปีละ 1 แสนคนมีงานทำ ดูแลตนเองได้

ในส่วนการสนับสนุนของรัฐบาล มีเบี้ยยังชีพคนพิการ โดยที่คนพิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้รับเบี้ยความพิการ 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน และคนพิการมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์หรือมากกว่าในเดือนนั้น จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยความพิการ 800 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัย 5 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการที่จะนำคนพิการ โดยการใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มา Recruit ด้วยการนำคนพิการแต่ละปี มายกระดับทักษะใหม่ๆ (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ๆ (Reskill)

โดยคาดการณ์เอาไว้ว่า ผลลัพธ์ 100% ของคนพิการที่เข้าหลักสูตรนี้ จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของปี 2567 และคนพิการผู้ผ่านหลักสูตรนี้ จะมีงานทำ ไม่ว่าจะทำงานกับสถานประกอบการ เป็นบุคลากรต่างๆ ของสถาบันการศึกษา

และเมื่อสำเร็จแล้วโครงการนี้จะได้รับการต่อยอดคือการลงนาม MOU ระหว่างกระทรวง พม. จะประสานงานไปกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อที่จะใช้สถานศึกษาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ วิทยาลัยเทคนิคและสารพัดช่าง ในการ Upskill และ Reskill คนพิการทั่วประเทศ ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ มั่นใจว่าในแต่ละปี คนพิการไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จะมีงานทำและสามารถดูแลตนเองได้ และพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยลง

สหประชาชาติ ยกเป็นวาระใหญ่ระดับโลก

มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ Art for All ได้ทำงานร่วมกับผู้พิการมาระยะเวลานาน เข้าสู่ปีที่ 28 ปี โดยใช้ศิลปะเป็นตัวกลาง ได้จัดงานเสวนา “หลากแนวคิด หลายวิธี เพื่อยกระดับวิถีชีวิตผู้พิการ” ภายในงานมีการเสวนาถึงแนวคิดการยกระดับผู้พิการ

นายประสงค์ องค์ปรีชากุล อดีตผู้เคยทำงานกับองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนา ผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการ องค์การสหประชาชาติว่า การขับเคลื่อนคนพิการมีการขับเคลื่อนมาเยอะมาก แต่ยังไม่พอ เพราะมีหลายสาเหตุ ตอนนี้หลายหน่วยงานพยายามช่วยกันดูแล แต่เรายังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะขาดองค์ความรู้

ขณะที่หลายคนอาจคิดว่างานขับเคลื่อนคนพิการเป็นเพียงหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ทุกคน ทุกหน่วยงานสามารถช่วยกันได้ ไม่ใช่หน้าที่ของยูเอ็น หรือว่าหน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ขณะที่ยูเอ็นตอนนี้ยกระดับเป็นวาระของโลกแล้ว เพราะในเดือน มิถุนายน 2019 เลขาธิการสหประชาชาติได้ออกนโยบายแนวทางในการให้คนพิการเข้าไปมีส่วนในการทำงานใน UN ทุกด้าน มีส่วนร่วมในทุกด้าน

มูลนิธิ Art for all ยกระดับวิถีชีวิตผู้พิการ

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ประธานมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ Art for All กล่าวว่า ปัจจุบันผู้พิการเผชิญความท้าทายในเรื่องของอาชีพการงาน มูลนิธิก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี พยายามเชื่อมโยงงานศิลปะทุกแขนง ให้เกิดความเท่าเทียมกับผู้พิการ ผ่านการเรียนรู้ศิลปะด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดีไซน์ เรื่องของดนตรี พัฒนาศักยภาพพวกเขาให้สามารถต่อยอดสู่อาชีพได้ในอนาคต

ผู้สูงอายุ ผู้พิการมีเพิ่มขึ้น
รัฐหน่วยงานเดียวอาจดูแลไม่ไหว

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ในอดีตคนพิการเกิดจากอุบัติเหตุการทำงาน ตอนนี้มาสู่จุดที่คนพิการเกิดขึ้นจากระบบสาธารณสุข หมายความว่าพอระบบสาธารณสุขดี ก็ทำให้คนพิการแข็งแรงขึ้น มีอายุมากขึ้น โดยจากข้อมูลที่ศึกษามาจากธนาคารแห่งหนึ่ง พบว่า

ทั่วโลกมีผู้สูงอายุกว่า 560 ล้านคน แต่อีก 20 กว่าปี ในประเทศเอเชียแปซิฟิกจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 1200 ล้านคน และอัตราเฉลี่ยผู้สูงอายุที่พิการในจำนวนนี้จะมีประมาณ 40% พอกลับมาดูที่ประเทศไทย ถ้าจำนวนเพิ่มขึ้นเราจะเอาแรงที่ไหนมาดูแล

“ขณะที่งานดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ อยู่ใรมือภาครัฐเกือบทั้งหมด เมื่อก่อนคุณภาพดี แต่ตอนนี้ผมมองว่าคุณภาพการดูแลไม่เหมือนเดิม เพราะจำนวนผู้สูงอายุกับผู้พิการเยอะขึ้น แต่ระบบงานภาครัฐยังเหมือนเดิม ฉะนั้นรัฐต้องเร่งปรับเพื่อหันไปดูแลทรัพยากรคนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพชีวิตของสูงอายุกับผู้พิการ”

 

Tag :