ปตท.ชูแผน ESG เปลี่ยนผ่าน พอร์ตลดฟอสซิลสู่พลังงานแห่งอนาคต

by ESGuniverse, 7 พฤษภาคม 2567

ปตท.มองความสำเร็จด้าน ESG ต้องเริ่มจากตัวเอง ผนวกเข้าไปในกระบวนการธุรกิจ พร้อมชูแผนความยั่งยืน ปรับพอร์ตเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานแห่งอนาคต

 

ในงานสัมมนาวิชาการ “ESG : The Next Chapter to Sustainability : ก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Ex-MBA KU) ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของสมาคมเมื่อไม่นานผ่านมา

  

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ขึ้นกล่าวถึงความสำคัญการทำ ESG ในมุมมองของภาคเอกชน ในฐานะเป็นองค์กรใหญ่ และเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ

นายอรรถพล กล่าวว่า การทำ ESG เราควรทำพร้อมกันทั้งองค์กรใหญ่และองค์กรเล็ก เริ่มจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจ ทุกโรงงาน สามารถทำได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก และไม่ได้ทำให้ขาดทุน แต่เป็นการช่วยในการบรรเทาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของธุรกิจ

เรื่องความยั่งยืนถือว่าอยู่ใน DNA ของคน ปตท. ที่ได้ยึดแนวปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หากนิยาม ESG แบ่งเป็น G คือ ผลดำเนินงานต้องเลิศ, E คือ โลกต้องรักษ์ และ S คือ สังคมไทยต้องอุ้มชู เพราะการดูแลสังคมดีแต่ขาดทุนตลอดก็จะล้ม

PTT Sustainbility DNA
สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล ไม่ขาดทุน

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า การดำเนินการเรื่องความยั่งยืนของ ปตท.เราเรียกว่า PTT Sustainbility DNA เราอยากให้มิติความยั่งยืนอยู่ในดีเอ็นเอของพนักงานทุกคน ที่ได้ยึดแนวปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หากนิยาม ESG แบ่งเป็น G คือ ผลดำเนินงานต้องเลิศ, E คือ โลกต้องรักษ์ และ S คือ สังคมไทยต้องอุ้มชู เพราะการดูแลสังคมดีแต่ขาดทุนตลอดก็จะล้ม

“แต่ในเรื่องของ G มองว่าในองค์กรที่ทำมาหากินเขาต้องใส่ผลประกอบการที่ดีเข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นเขาจะลืมและไม่ยั่งยืน เราดูแลสังคมดี สิ่งแวดล้อมดี แต่ขาดทุนตลอด ตัวเองก็ล้ม พอตัวเองล้ม ตัวเองก็ไม่มีปัญญาไปดูแลสังคมหรือว่าดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่ดี เพราะฉะนั้นในเรื่องธรรมาภิบาลของเรา ผลดำเนินการเราต้องเลิศไปพร้อมกับการดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม”

เปลี่ยนผ่านสู่ พลังงานแห่งอนาคต

นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเทรนด์เริ่มเปลี่ยนมาสู่พลังงานทดแทน ปตท.มีภารกิจหลักคือ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา โลกใช้พลังงานจากฟอสซิล ปตท.ก็ทำเรื่องฟอสซิลจนเชี่ยวชาญถึงตอนนี้ แต่เมื่อเทรนด์อนาคตเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตาม ต่อให้เป็นองค์กรใหญ่แค่ไหน สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนตามความต้องการของโลก

“ปตท.ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ คือ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต หมายความว่า เราจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนทุกชีวิต เราเน้นคำว่า ‘ทุกชีวิต’ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประเทศชาติ หรือสังคมโลก”

คำถามคือแล้วเราจะขับเคลื่อนสิ่งนี้ด้วยอะไร? คำว่า เริ่มจากคำว่า Future Energy and Beyond ทั้ง 2 ตัวนี้จะเป็นตัวชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงขององค์กร Future Energy คือ จะทำแก๊สอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องไปทำ Future Energy ด้วย เราใส่ Beyond เข้าไป หมายถึง Beyond Energy ที่เป็นนโยบายประเทศ

 

 

 

แตกใบธุรกิจ New S-curve

เรื่องของการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-curve รัฐบาลก็ออกนโยบายมามีอยู่ 12- 13 New S-Curve เช่น ไทยอยากเป็น Medical Hub หรือ ศูนย์กลางโลจิสติกส์ รัฐบาลสามารถออกนโยบายได้ แต่ออกมาแล้วต้องมีคนลงมือทำ ดังนั้น ภาคธุรกิจก็ต้องเป็นคนขับเคลื่อน ซึ่ง ปตท. ก็เป็นหนึ่งในนั้น และเราก็ตั้งเป้าหมายใหม่ว่า จะปรับตัวไปลงทุน “ด้านพลังงานทดแทน” มากขึ้น

ปตท. ตั้งเป้าเมื่อ 2 ปีที่แล้วเรื่องพลังงานทดแทนเรามีพลังงานจากโซล่าร์ จากลม แค่ประมาณ 400 เมกะวัตต์ แต่เราตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2030 เราต้องได้ 15,000 เมกะวัตต์และผลของการตั้งเป้า ทำให้ทุกคนต้องวิ่ง ปัจจุบันนี้เราทำได้ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์แล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Energy Storage แบตเตอรี่ ไฮโดรเจน ซึ่งก็เป็นพลังงานอนาคตอีกประเภท

ถ้าเราย้อนกลับไปสัก 3 ปีที่แล้ว รัฐบาลบอกอยากมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ ซึ่งตอนนั้นเรื่อง EV เรายังเป็นศูนย์ แต่ว่าทุกวันนี้จะเห็นว่ามันสำเร็จพอสมควร แล้วเราก็ตั้งเป้าตั้งแต่ในวันที่รัฐบาลพูดว่าอยากมีส่วนเข้าไปขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ การตั้งโรงงานต่างๆ จนตอนนี้เรามีแอปพลิเคชั่น ที่ทำให้คนที่ยังไม่มั่นใจว่าอยากจะซื้อรถ EV สามารถไปเช่ามาลองขับดูก่อนได้ ผมว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็ม Ecosystem ในบ้านเรา

หันทิศทางธุรกิจเสริม News S-curve ของประเทศ

นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวิสัยทัศน์ ปตท. คำว่า Beyond หลักๆ เราจะเน้นไปในธุรกิจที่จะเสริม News S-curve ของประเทศ เช่น ไทยอยากเป็น Medical Hub ปตท.ก็ไปธุรกิจทำไลฟ์สไตล์ ทำธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพ หนุนเครื่องมือทางการแพทย์ เรียกว่าเข้าไปเติมหรือไปเสริมในส่วนที่ประเทศขาด

ในเรื่อง Medical Hub ตอนนี้ ปตท.พยายามเข้าไป ซื้อหุ้นในบริษัทยาที่จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ซึ่งการลงทุนกับบริษัทนี้จะทำให้ ปตท.สามารถต่อยอดและขยายการลงทุนไปยังตลาดยาและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพเพื่อเสริมเรื่อง Medical Hub

ขณะเดียวกันไทยก็อยากเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ปตท.ไม่ได้ทำเรื่องรถไฟความเร็วสูงโดยตรง แต่เข้าไปเสริมบางส่วนเช่น ระบบราง ที่ทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงการรถไฟจีนในการส่งสินค้าเกษตรไปจีน โดยร่วมกับพันธมิตรและทำ MOU กับ 5 มณฑลในจีนแล้ว

ขณะที่ด้านไลฟ์สไตล์ ขายน้ำมันอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ เรามีขายกาแฟด้วย และกำลังหาตัวอื่นอยู่ว่าจะขายอะไรเพิ่ม แล้วก็สร้าง Ecosystem ของปั๊ม ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน แทนที่จะเป็นที่เติมพลังงานอย่างเดียว

  

 

เร่งปรับ เปลี่ยน ปลูก มุ่งสู่ Net Zero 2050

ประเทศไทยประกาศ Net Zero ในปี 2065 กลุ่ม ปตท. หารือกันว่าเราต้องช่วยขับเคลื่อนสู่เป้าหมายของประเทศ ดังนั้นจึงได้ ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ คือภายในปี 2050 เพราะกว่าจะไปถึงเป้า 2065 ผมว่าจะมีบางองค์กรที่ยังทำไม่ได้ ถ้าองค์กรใหญ่ทำได้เร็วกว่า ก็จะช่วยให้ไทยไปสู่เป้าที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ ปตท.ทำมีหลายอย่าง

อย่างแรกคือ เร่งปรับกระบวนการผลิต ปรับการทำงานหลายอย่างที่จะลดคาร์บอน รวมถึงทำ Carbon Capture and Storage ที่เป็นการจับคาร์บอนที่อยู่ในอากาศจับอัดกลับเข้าไปใต้ดิน ซึ่งอันนี้ก็เป็นโครงการใหญ่ ตอนนี้ ปตท.สผ. บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคนไทย ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็พยายามทำอยู่ เป็น Pilot มีแหล่งอยู่กลางอ่าวไทย คาดจะช่วยเรื่องคาร์บอนได้เยอะพอสมควร

จากนั้นเร่งเปลี่ยน คือเปลี่ยน portfolio ของตัวบริษัท ที่เราต้องลดการใช้ฟอสซิลลง และเพิ่มตัวพลังงานทดแทน คือต้นปีเราก็ได้ขายเหมืองถ่านหินที่อยู่ในพอร์ตของเราออกไปจากพอร์ตหมดเหลือแค่ 2 ตัวคือ น้ำมันและแก๊ส ซึ่งแก๊สยังต้องขายอยู่ เพราะเขามองว่าเป็นพลังานช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานที่กรีนจริงๆ มันต้องใช้ระยะเวลา มันต้องลงทุนเรื่องโครงสร้างต้องพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี

“ดังนั้นแก๊สจะเป็นตัวเปลี่ยนผ่านที่ดีที่สุด เพราะว่าในฟอสซิล 3 ตัว ถ่านหิน น้ำมัน แก๊ส ตัวแก๊สนั้นสะอาดที่สุด แล้วก็เราตั้งเป้าไปแล้วรีโนเวิลด์ต้องได้ 15,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2030”

สุดท้ายคือ เร่งปลูก ปตท.มีโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ที่ทำมาแล้วหลายปี เราปลูกจริงและยืนยันว่าไม่ได้ทิ้ง แถมยังช่วยเกษตรกรอีกด้วย

“จากการศึกษาพบว่า ป่า 2 ล้านไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แล้วก็ปล่อยออกซิเจน ต้นไม้ปล่อยออกซิเจน ประมาณ 1.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งเห็นผลมาก นอกจากปลูกป่า ก็มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับป่า ไว้ 3 ศูนย์ ที่ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง อยู่แถวศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ที่จังหวัดระยอง แล้วก็เรามีการประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน อย่างโครงการคุ้บางกระเจ้า อันนี้ก็เอกชนหลายภาคส่วนก็ร่วมกันแล้วก็เข้าไปร่วมด้วย”

อย่างไรก็ตาม นายอรรถพล สรุปว่า ใน 3 ส่วน “เร่งเปลี่ยน เร่งปรับ และเร่งปลูก” ถ้าเอาทั้ง 3 มารวมกัน จะทำให้เราไปถึง Net Zero ในปี 2050 ได้

ปตท.อุ้มชูสังคม

สุดท้ายแล้วความตั้งใจของ ปตท. คือทุกกลุ่ม ธุรกิจ ปตท. ต้องเข้าไปมีส่วนช่วย ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่ ช่วงโควิด เราก็ทำไปหลายอย่าง เช่น เราตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน ช่วงโรคระบาด ปัญหาคือเกี่ยวกับระบบเดินหายใจ แล้วก็ทุกคนมีปัญหาเดียวกัน ฉะนั้นเราต้องร่วมงานร่วมมือ ร่วมด้วยช่วยกัน เลยเรียกโครงการว่าลมหายใจเดียวกันเพราะว่าคนไทยทุกคนมีลมหายใจเดียวกัน

ผนวก ESG เข้ากับกระบวนการธุรกิจ

"เวลาทำ ESG ให้มองเข้าไปในกระบวนการการทำงานธุรกิจปกติของเรา แล้ว ESG จะประสบความสำเร็จ บริษัทใหญ่ก็โตไปพร้อมกับคนเล็กได้ ยกตัวอย่างโออาร์ ปตท.มีปั๊มอยู่ประมาณ 2,000 กว่าปั๊ม แต่ไม่ใช่ของปตท.ทั้งหมด มีส่วนของปตท.ประมาณ 80% ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจย่อยที่โตไปพร้อมกับเรา เราทำธุรกิจกันเป็นองคาพยพ ทำทีเดียวจบครบทั้ง E S และ G เราอาจช่วยเหลือเขาในระยะเริ่มต้น ยกตัวอย่างปั๊มที่ทำโครงการ “แยกแลกยิ้ม” คือการแยกขยะ แล้วแลกรอยยิ้มกลับไป"

วิธีทำคือแจกถังขยะ ที่แยกประเภทให้กับดีลเลอร์ทั่วประเทศ มีแอดโฆษณามารณรงค์ ให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ ก็ร่วมกันแยกขยะ เราขอแยกเป็นขยะที่ขายได้และขายไม่ได้ แล้วให้เขาเอาไปขาย พอขายเสร็จเอาเงินมา ดูแลชุมชนโดยรอบ โครงการนี้หลายปั๊มทำดีโดยไม่ต้องเสียเงิน สามารถช่วยสังคมได้

เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา เราก็มีโครงการรณรงค์ให้ปั๊มเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้าทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำมาช่วยขายในปั้ม โครงการนี้ดีมากในระยะแรกดีลเลอร์ไม่เข้าใจ แต่เราบอกว่าให้ทำเถอะ เดิมทีคนจะเข้าใจว่า ปตท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70-80% แต่จริง ๆ ปตท. มีแค่ 40% ที่เหลือเป็นของแบรนด์อื่นซึ่งมีอยู่ประมาณ 4-5 แบรนด์ แข่งกันอยู่ แปลว่าอีก 60% คือไม่ใช่ลูกค้า หลังจากเรามีโครงการนี้ ในระยะเริ่มต้นเราคิดแต่แค่ว่าช่วยเกษตรกร ครั้นพอโปรโมท ก็จะมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาช่วยซื้อ และเข้ามาใช้บริการของเรา คนที่เข้ามาจะเป็นลูกค้าใหม่ 60% พวกนี้นอกเหนือจากการช่วยเกษตรกรแล้ว เขาก็จะมาเข้าใช้บริการห้องน้ำของเรา ได้กลิ่นกาแฟหอม ก็มาดื่ม

กลายเป็นว่าในช่วงนั้น ธุรกิจปตท. ร้านเซเว่น อเมซอน พวกนี้ยอดขึ้นไปด้วยกันได้ ตอนหลังติดใจแล้ว ไม่ต้องโปรโมตแล้ว ทุกที่ทำอย่างนี้หมด ช่วงไหนสับปะรดล้นตลาด ก็จะเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรเข้าไปขาย เป็นการดึงลูกค้าเข้าปั๊ม นี่คือตัวอย่างการทำอีเอสจี ขับเคลื่อนไปกับการทำธุรกิจของเรา มันทำได้ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่เชื่อว่าทำแล้วดี หลายคนมองว่าอีเอสจีต้องลงทุนเยอะแต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ