ม.เกษตรศาสตร์ ขับเคลื่อนความยั่งยืนทุกมิติ ป้อนความรู้นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดงาน

by ESGuniverse, 6 พฤษภาคม 2567

ม.เกษตรศาสตร์ ต่อยอดความสำเร็จมหาวิทยาลัยสีเขียว ประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ค.ศ.2035 ขับเคลื่อนความยั่งยืนทุกมิติ พัฒนาหลักสูตร ป้อนองค์ความรู้นักศึกษา ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

 

การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนให้เกิดผลสำเร็จ ต้องเกิดจากความร่วมมือในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ-เอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ซึ่งในส่วนของสถาบันการศึกษานั้นนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะจะมีบทบาทในการปลูกฝังแนวคิดความยั่งยืน ให้กับเด็ก และเยาวชน

 

ในส่วนของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับสถาบันอุดมศึกษา ได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่ Go green พร้อมขับเคลื่อนอุดมศึกษาไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่ามหาวิทยาลัยทั่วไทยจะเป็น Green Campus ภายใน 5 ปีต่อจากนี้

 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มุ่งขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนายั่งยืนอย่างจริงจัง ในงานครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ผ่านมา ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายลดโลกร้อนของประเทศ "KU Goes Green and Carbon Neutrality" ร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ของประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG: Sustainable Development Goals) โดยต่อยอดจากมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี ค.ศ. 2035

 

จากงานสัมมนา “ ESG : The Next Chapter to Sustainability : ก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน ” ของสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Ex-MBA KU) ที่จัดขึ้นไม่นานที่ผ่านมา โดยเป็นการระดมความคิด และมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ และนักธุรกิจ ขึ้นเวทีกล่าวถึงการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

 

ปลูกฝังความยั่งยืนต้องเริ่มจากสถาบันการศึกษา

 

นายรัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะผู้แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนอาจต้องเริ่มตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ส่งต่อมาจนถึงระดับอุดมศึกษา

 

โดยที่มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ให้กับนักศึกษาว่าความยั่งยืนมีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะกรอบของ ESG ซึ่งต้องอธิบายให้ชัดเจน และมหาวิทยาลัยควรมีแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันมากขึ้น รวมถึงมีวิชากลาง ให้ ESG กระจายอยู่ในทุกมิติผ่านการทำกิจกรรม เพราะว่าตอนนี้ตลาดแรงงานต่างก็ต้องการตัวคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจด้าน ESG มากขึ้น

 


ม.เกษตร เดินหน้าสังคมคาร์บอนต่ำ

 

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการประกาศนโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี ค.ศ.2035 โดยพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่านประชาคมในรูปแบบต่าง ๆ ในทุกคณะที่มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งเรื่องของการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีการประชาสัมพันธ์ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

“มหาวิทยาลัยมีสถานีวิจัยใหญ่เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยเรื่องของการสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์ คาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นตัวกลางในการสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย ตอนนี้เรามีการผลักดันเรื่องการใช้พลังงานสะอาด โดยจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในหลาย ๆ ตึกของมหาวิทยาลัย เช่นที่วิทยาเขตกำแพงแสนกำลังเร่งดำเนินการในการติดโซล่ารูฟท็อป”

 

สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนความยั่งยืน

 

นายรัชด กล่าวต่อว่า การสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ได้ชวนมหาวิทยาลัยทั่วไทยร่วมกันขับเคลื่อน Net Zero เป็นพลังเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา

 

“ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำงานกับ ศูนย์คุณธรรม ของ รศ.นพ.สุริยเดว ริทรีปารีตี ขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมให้กับเด็กๆ ของเราให้มีลักษณะที่เป็นนามธรรมมากขึ้น มีตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์มากขึ้น เพราะทุกมหาวิทยาลัยจะมีตัวชี้วัดเรื่องของเกียรตินิยม หรือการแข่งขันทางวิชาการ แต่เราเคยให้ความสนใจเรื่องคุณธรรมของเด็ก ๆ หรือไม่ ? นี่เป็นคำถามใหญ่มาก ซึ่งการทำงานต่อไปเราอาจจะมีเกียรตินิยมคุณธรรมให้กับเด็กของเรา นอกเหนือจากหลักสูตรทางวิชาการ”

 


ESG แทรกอยู่ในหลากหลายวิชา

 

ในส่วนการเรียนการสอนที่เป็น ESG ตอนนี้มหาวิทยาลัยยังไม่มีการสอนหลักสูตรในลักษณะนี้โดยตรง แต่มีการแทรกเนื้อหาอยู่ในหลาย ๆ วิชา ตามคณะต่าง ๆ เช่น คณะบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม การเกษตร มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่เป็นหลักสูตรการศึกษาทั่วไป ในเรื่องของ ESG กระจายกันอยู่ และเราสอน ESG ผ่านโครงงานต่าง ๆ ซึ่งกระจายตัวไปในทุกส่วนของหลักสูตร ถือว่าเป็นโจทย์ที่ต้องพัฒนาอีก

 

มหาวิทยาลัย มีหลักสูตร “ศาสตร์ของแผ่นดิน” ที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการบูรณาการศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมสิ่งที่เรากำลังพูดถึงเรื่องของ ESG ในหลักสูตรของผู้บริหาร หลักสูตร KU Care เป็นการเปิดวิชาให้คนภายนอกระดับผู้บริหารเข้ามาเรียน และกำลังจะขยายวิชาอื่น ๆ ในสถาบันเพิ่มเติม

 

คณะวนศาสตร์ หน่วยงานรับรองคาร์บอนเครดิต

 

นายรัชด กล่าวอีกว่ามหาวิทยาลัยมีหน่วยงานให้การรับรองการทำคาร์บอนเครดิต โดยคณะวนศาสตร์ ดูแลโดยตรง และเรายังมีสำนักงานนวัตกรรม เรื่องของกระบวนการเรียนรู้ เรามีทั้งประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติ เรื่องของการอบรมแนวทาง การดูแลการประเมินเบื้องต้นมีระบบการรับรองการทำคาร์บอนเครดิตที่ได้มาตรฐาน สามารถติดต่อได้ที่คณะวนศาสตร์

 

อุดมศึกษาฯ ด่านสุดท้ายป้อนบัณฑิตสู่ตลาดแรงงาน

 

อย่างไรก็ตาม นายรัชด กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำ ESG สามารถเริ่มต้นจากตัวเราเอง หากมองอนาคตของประเทศไทย ประเด็นสำคัญเริ่มต้นจากสถาบันการศึกษาเป็นจุดแรก และควรจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเป็นด่านสุดท้ายที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เราจะกำหนดแนวทางให้เด็ก ๆ มีเงื่อนไขอย่างไร ให้รู้เรื่องราวเหล่านี้ ต่อยอดจนถึงภาคทำงานในอุตสาหกรรม

 

ส่วนของภาคเอกชนควรได้รับการสนับสนุนจาก ก.ล.ต. เราพยายามบ่มเพาะ นิสิตของเรา ให้รู้ว่าถ้าคุณเป็นพลเมือง ESG อนาคตรอคุณอยู่ พร้อมจะสร้างโลกให้ยั่งยืน อนาคตของประเทศไทยเป็นการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ระหว่างประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง ไปกำหนดเป็นนโยบายของระดับกระทรวงศึกษาธิการเรื่อยมาจนถึงอว. ต่อไปก็เป็นภาคสังคม และระดับประเทศต่อไป