เปิดวาระร้อน ‘COP28’ พันธสัญญา”Supernova”ฟื้นฟูโลก

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ,วันทนา อรรถสถาวร, 28 พฤศจิกายน 2566

เปิดโต๊ะเจรจา “COP28” เวทีหาหนทางสานพันธสัญญาปารีสให้บรรลุลด1.5องศา ในปี2573 โลกรวมพลัง”Supernova” วางหมุดหมายGST เข็มทิศติดตามวาระร้อน ข้อผูกพันกองทุนชาติร่ำรวยช่วยกำลังพัฒนา1แสนล้านเหรียญต่อปี ลดใช้ฟอสซิล เร่งเพิ่มพลังงานสะอาด 3 เท่า พร้อมปฏิวัติเกษตรและอาหาร ฟื้นระบบนิเวศ

 

 

ติดตามวาระร้อนการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28) จัดขึ้นที่ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเริ่มต้นขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-12 ธ.ค.2566 เส้นทางโค้ง พลิกโลกก่อนเข้าสู่มหันตภัยโลกเดือด นานาชาติต่างหาหนทางผ่าทางตัน ฟื้นฟูโลกด้วยการกำหนดวาระโลกเพื่อชีวิตมนุษย์ สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม

       -Global Stocktake ติดตามความคืบหน้าพันธสัญญาปารีส
       -ติดตามข้อผูกพันประเทศพัฒนาเติมเงินกองทุน ลดวามสูญเสีย (loss and damage) สู่ประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มจาก 100,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็น 160,000 -340,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 315,000-565,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2593
       -รุกคืบธุรกิจพลังงานลงทุนเทคโนโลยีดูดซับคาร์บอน หรือ ลดการผลิตพลังงานฟอสซิล
       -เพิ่มลงทุนพลังงานหมุนเวียน 3 เท่า (Renewable Energy)
       -ธุรกิจเกษตรและผลิตอาหาร ต้องปฏิวัติระบบการผลิตสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศและคน
       -4 วาระ ไทยเสนอในเวทีCOP28 เพื่อเปลี่ยนผ่านราบรื่น คือ ขับเคลื่อนจากภายในสู่ภายนอก (เศรษฐกิจฐานราก สู่ระดับโลก), ใช้เทคโนโลยีสนับสนุน, กองทุนเปลี่ยนผ่านเป็นธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ

ก่อนการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการเตรียมเนื้อหา ติดตามพันธสัญญาหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement 2015 (พ.ศ. 2558) โดยการเปิดรายงาน "Global Stocktake" แนวทางตรวจสอบการปฏฺิบัติตามข้อตกลงปารีส และการประเมินความคืบหน้าเป้าหมายข้อตกลงที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 องศา เป็นภูมิอากาศย้อนกลับไปช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

ตามรายงานพบว่า 195 ประเทศยังมีปฏิบัติตามพันธสัญยาคืบหน้าอย่างเชื่องช้า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มต้น (Baby steps) หากเทียบกับหลักปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ หรือการมีส่วนร่วมที่กำหนดระดับชาติ (NDC- Nationally Determined Contributions) ทุกประเทศ ถือว่า ยังไม่เพียงพอ กับการก้าวไปสู่เป้าหมายแรก ที่ใกล้งวดเข้ามาทุกปี โดยหมุดหมายแรกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลง 43% ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซอีกเป็น 60% ภายในปี 2578 เมื่อเทียบกับปี 2562

  

 

เลขาธิการUN เรียกร้องทั่วโลก
ระเบิดพลัง Supernova

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations-UN) มองว่าเวที “COP28” จะเป็นจุดพลิก และเป็นความหวัง ให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน “ปิดช่องว่างรอยต่อ อุปสรรคที่ขัดขวาง เป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement 2015) เข้าสู่การลงมือปฏิบัติการแก้ไขวิกฤติ หาวิธีการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยประเทศพัฒนาแล้ว ไปให้ถึงเป้าหมายในปี 2583 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาวางเป้าหมายในปี 2593


“ที่ผ่านการปฏิบัติมีความคืบหน้าล่าช้า โลกกำลังล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ แค่เพียงความคืบหน้าทีละนิ้ว ไม่เพียงพอที่จะสร้าง “Supernova” ระเบิดพลังเปล่งแสงจากดาวฤกษ์ให้ในระบบสุริยะส่องสว่างไปทั่วทั้งจักรวาล ประเทศที่พัฒนาจะต้องสร้างความไว้วางใจ โดยการปฏิบัติตามสัญญา ให้การสนับสนุนทางการเงิน กระจายการลงทุนไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา” เลขาธิการสหประชาชาติ ย้ำถึงความจริงจังให้เกิดการลงมือทำร่วมมือกันกวิกฤติโลกเดือด

  

 

GST เช็กลิสต์พันธสัญญา
เร่ง นานาชาติ ก้าวข้าม ระยะตั้งไข่ Baby Steps


ทางด้านไซมอน สไตลล์ เลขาธิการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC UNFCCC Executive-Secretary, Simon Stiell) มองว่า สิ่งที่รัฐบาลในแต่ละประเทศทำในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมีสัญญาปารีส ปี 2558 ยังมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย แค่เป็น 'ย่างก้าวที่เล็กจนเกินไป' หากเทียบกับเป้าหมายอันท้าทายของการหลุดพ้นวิกฤติโลกเดือด

จากรายงานการติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานทั่วโลก หรือ Global Stocktake (GST)ตอกย้ำถึงผลการติดตามความคืบหน้าสะท้อนได้ชัดว่า ทุกประเทศเดินหน้าไปเพียงก้าวเดียว เหมือนเด็กเริ่มต้นตั้งไข่ (Baby Steps) นั่นจึงไม่เพียงพอในการเดินหน้าหลุดพ้นจากวิกฤติ

ภายในการประชุมCOP28 จึงต้องนำกลไก GST เป็นเครื่องมือพารัฐบาลแต่ละประเทศ กลับไปสำรวจจุดอ่อน ปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาทางปลดล็อก นำพาทุกคนพ้นวิกฤติสภาพอากาศไปพร้อมกัน ใช้ในติดตามความคืบหน้าปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤติ ใน COP28 เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนอันหนักแน่น นำไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

“ทั่วโลกยังคงหลงทางทำให้ภัยพิบัติทางสภาพอากาศมาถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด บทสรุปจากข้อตกลงเวที COP28 ที่ดูไบ จะมีการวางแผนติดตาม (Check List) หมุดหมายในแต่ละย่างก้าว เรียกว่า The Global stocktake ทำหน้าที่ติดตามข้อตกลง นำไปขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพอากาศตามเส้นทางข้อตกลงปารีส สร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ระดับชาติ NDCจะมีแผนแม่บทชัดเจน มานำเสนอการประชุมเข้มข้นขึ้นในปี 2568 ถือเป็นตัวเร่งผลักดัน ให้ทุกประเทศเข้าสู่การทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น”


ทั้งนี้ แม้รายงานการทบทวนด้านสภาพอากาศจากUN Climate Change ได้สะท้อนชัดเจนถึงความล่าช้า แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนเห็นช่องว่า ร่วมกันนำเครื่องมือมาวางแผนให้ผู้นำรัฐบาลในทุกประเทศทำข้อตกลง การขับเคลื่อนการลดระดับคาร์บอน เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน เกิดผลกระทบเชิงบวกเศรษฐกิจสีเขียว เกิดความต้องการแรงงาน และสร้างรายได้ จึงเป็นโอกาสใหม่ในการส่งเสริมความมั่งคั่งร่วมกัน แนวทางขับเคลื่อนจีดีพีให้เติบโต โดยที่ลดมลพิษ ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนดีขึ้น”


ดร. สุลต่าน อาเหม็ด อัล จาเบอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ประธาน COP28 ทั้งยังเป็นหัวหน้าบริษัทน้ำมันของรัฐของUAE คาดหวังว่า เวที COP28 จะต้องเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในทศวรรษที่สำคัญนี้สำหรับทุกฝ่ายที่จะคว้าช่วงเวลาสุดท้าย นำ Global Stocktake มาช่วยยกระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการ เพื่อให้เป้าหมายการลดอุณหภุมิ 1.5C สัมฤทธิ์ผล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถือเป็นจุดสูงสุดที่จะร่วมมือสร้างความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนวิดกฤติผลกระทบที่ส่งต่อโลกที่สวยงามและมีความหมายให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป

เข็มทิศ โรดแมป

สานพันธสัญญาNet Zero 2050

สรุปของการติดตามทบทวนความคืบหน้าผลการดำเนินงานโลกครั้งแรก (Global stocktake -GST) โดยที่ GST จะเป็นเครื่องมือ สร้างกลไกหลักที่ใช้ประเมินความคืบหน้าภายใต้ข้อตกลงปารีส จะมีการสรุปข้อแนะนำให้รัฐบาล เร่งออกแบบยุทธศาสตร์ แนวทางปฏิบัติ องค์ประกอบในการสนับสนุน การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โดยGST จะถูกนำมาพิจารณาในทุก 5 ปี หลังจากเริ่มต้นขึ้นใน COP26 ปี 2564 โดยมีการรวบรวมองค์ความรู้การแก้ไขปัญหาภูมิอากาศจากรัฐบาล, องค์กรนานาชาติ, สถาบันวิจัย, องค์กรของสังคมพลเมือง, และองค์กรอื่น ๆ ที่เข้ามาดำเนินงาน

ทั้งนี้ UNFCCC ได้นำเสนอสิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงทิศทางให้เข้มข้นมากขึ้น จาก GST มาเป็นหัวใจ ติดตามความคืบหน้า การทำงานของรัฐบาลนำไปวางโยบาย แบ่ง 3 ระดับ


1.รวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูล เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและการกระทำทางภูมิอากาศจากรัฐบาล องค์กรนานาชาติ สถาบันวิจัย องค์กรของสังคมพลเมือง และองค์กรอื่น นำมาทบทวนความคืบหน้าในการปฏิบัติของข้อตกลงปารีส พร้อมกับระบุโอกาสการขับเคลื่อน ปัจจัยการสนับสนุนและแนวทางการสร้างความร่วมมือ


2.ทบทวนความคืบหน้าในการปฏิบัติของข้อตกลงปารีส วางข้อตกลง ที่นำไปสู่การกะตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติ ร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนและติดตามความคืบหน้า


3. ติดตาม'นโยบาย' ของรัฐบาล มีการนำความตกลงจาก GST ไปออกแบบพัฒนายุทธศาสตร์ ให้เกิดการขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่การวางเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ และทิศทางการขับเคลื่อนไปสู่การลงมือทำจากทุกภาคส่วน กลยุทธ์การแสวงหาความร่วมมือ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะมีการลงลึกและเจรจาต่อรอง การออกแบบพัฒนาโปรแกรมร่วมกัน พร้อมกันขอแนวทางการสนับสนุน ทั้งเงินทุน องค์ความรู้ เทคโนโลยี จากองค์กรนานาชาติ

 

 

ทวงสัญญาประเทศพัฒนาเติมทุน

หนุนการเปลี่ยนผ่านสังคมคาร์บอนต่ำ


การเปลี่ยนผ่านเพื่อลดก๊าซคาร์บอนในครั้งนี้ ต้องมีการเปลี่ยนผ่าน จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน กระบวนการผลิต และพฤติกรรมผู้บริโภค จึงต้องยอมทิ้งอุตสาหกรรมเก่า สินค้าเก่าที่ส่งผลกระทบต่อโลก ทำให้ต้องมีการตั้งกองทุนการเงินเข้ามาสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่พร้อมให้ปรับตัวไปสู่โลกยุคใหม่ไปด้วยกัน

ในเวที COP28 จึงต้องหารือพูดคุยกันเกี่ยวกับการแหล่งเงินทุน ทั้งด้านการสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือและลงทุน เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหาย (loss and damage fund) จัดตั้งขึ้นเมื่อการประชุม COP27 เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนารับมือกับผลกระทบของจากประเทศพัฒนา สู่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีการหารือต่อเนื่องเพื่อกำหนดรูปแบบใด และประเทศใดควรมีสิทธิเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศที่พัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา จะมีการนำข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเพื่อหยิบยกการหารือขึ้นในเวที COP28 ในการปรับตัว การเสริมความแข็งแกร่ง และลดความเปราะบางจากวิกฤติ


COP28 ปิดช่องว่างข้อผูกพัน ตั้ง SCF
ตามติดสัญญา กองทุนสูญเสีย

ก่อนหน้านี้ ในปี 2563 มีการตั้งกองทุนเพื่อโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เรียกว่า Green Climate Fund (GCF) เป็นข้อผูกพันที่ประเทศพัฒนาให้คำมั่นใส่เงินให้ประเทศกำลังพัฒนา มูลค่าเริ่มต้น 1000,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.55 ล้านล้านบาท) ต่อปี เพื่อนำไปใช้ในการปรับตัว ลดผลกระทบจาการเปลี่ยนผ่านการหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กองทุนยังขาดความต่อเนื่องและการบังคับจริงจัง จึงต้องผิดหวัง ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ยอดเงินที่เก็บได้มูลค่าเพียง 83,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท)
.
ในเวที COP28 จึงต้องหยิบเรื่องการอุดหนุนทางการเงินมาเจรจา เพื่อปิดรอยต่อ ช่องว่าง ที่ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยการวางกรอบแนวทางการทำงานให้ชัดเจน ลงไปสู่รายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศ โดยมีคณะกรรมการการที่คอยเจรจาทางการเงิน (SCF) จัดทำรายงานเกี่ยวติดตามคำสัญญาของประเทศพัฒนาในการเพิ่มการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการปรับตัว

นอกจากหยิบยกกองทุุน ไม่เป็นตามเป้าหมายแล้ว ยังจะต้องหารือลงลึกในรายละเอียด พร้อมกันกับหาทางเพิ่มเงินทุนตามพันธสัญญา โดยเป้าหมายที่ระบุให้นำเงินจากประเทศพัฒนาลงทุนด้านโครงการพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปี มีมูลค่า 160,000 -340,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573และเพิ่มเป็น 315,000-565,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2050 พร้อมกันกับ กำหนดรายละเอียด องค์กรหรือหน่วยงานที่จะเข้าไปบริหารจัดการกำหนดมูลค่ากองทุน ในที่ประชุม COP28

เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหาย (loss and damage โดยเป้าหมายที่ระบุให้นำเงินจากประเทศพัฒนาลงทุนด้านโครงการพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปี มีมูลค่า 160,000 -340,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 315,000-565,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2593

  

 

 รุกลงทุนพลังงานสะอาด

ลดการใช้พลังงานฟอสซิล

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณเกี่ยวกับการส่งเสริมใช้พลังงานจากถ่านหินทั่วโลกในปี 2565 มีมูลค่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยังรวมถึงการสนับสนุนการบริโภคพลังงานจากฟอสซิลในปีที่ผ่านมามูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นั่นเท่ากับว่า ปริมาณและการลงทุนสัดส่วนของฟอสซิล ทั้ง น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่ามาก หากเทียบกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือ พลังงานสะอาด (Clean Energy) ในปีที่ผ่านมา มีการลงทุนเพียง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ สัดส่วนเพียง 2.7 %ของการลงทุนทั้งหมด

สถาบันพลังงานนานาชาติ ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวพลังงานทั่วโลก (The International Energy Agency (IEA) ระบุว่า บริษัทน้ำมันและก๊าซ เปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนด้านการลดคาร์บอนเพียง 1% ของมูลค่าการลงทุนทึั้งหมดที่มีกว่า 1,800,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566


นี่คือ เส้นทางที่รู้ว่าผิด แต่เราก็ยังเดินกันต่อไป!!


วัดใจ มหาอำนาจพลังงาน
ลงทุนเก็บคาร์บอน-ลดการผลิต


ความท้าทายของการยอมหั่นกำลังการผลิต และรายได้จากพลังงานฟอสซิล เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ การเพิ่มพลังงานสะอาด ความหวังจึงอยู่ที่ ผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลหลัก ๆ ของทั่วโลก โดยผู้ผลิตหลัก 4 ราย ประกอบด้วย Equinor, TotalEnergies, Shell และ BP มีการลงทุนรวมมากกว่า 60% และครองการผลิตน้ำมันและก๊าซสำรองน้อยกว่า 13% จากทั้งโลก ทั้งนี้ กำลังการผลิตรวมสัดส่วน 60% อยู่ในบริษัทรัฐวิสาหกิจ Saudi Aramco จาก ซาอุดีอาระเบีย ( Saudi Aramco of Saudi Arabia)หรือ Adnoc จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Adno of the Emirates)

ทาง IEA จึงต้องการเรียกร้องให้ผู้ผลิตเริ่มต้นจากการลงทุนปรับปรุงการผลิต ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการผลิตภายในของธุรกิจโดยตรง (Scope1) และลดการปล่อยก๊าซจากกระบวนการใช้พลังงานมาจากภายนอก เช่น การผลิตไฟฟ้า และการขนส่ง (Scope2) ประมาณ 15% ซึ่งผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 15% จากทั้งหมดทั่วโลก ตั้งเป้าหมายให้ลดลงการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตให้ถึง 60% ภายในปี 2573 ่และลดลงให้ถึง 75% ภายในปี 2593 เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ในเวที COP28 จึงเป็นเวที “วัดใจ” อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลที่ทรงอิทธิพล มีมูลค่าตลาดสูง ที่เข้าร่วมประชุม จะมีความ “กล้าหาญ” เปลี่ยนแปลงตัวเอง นำเสนอแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือจะต้องเพิ่มการลงทุนในด้านพลังงานสะอาด 50% ภายในปี 2573 จึงจะนำไปสู่เป้าหมายการข้อตกลงปารีสลดอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส

ถือเป็น สิ่งที่ยากและท้าทายต่อการตัดสินใจของผู้ผลิตพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งจะต้องมีการลงทุนสูง ในการนำเทคโนโลยีการจัดเก็บ หรือ ดักจับคาร์บอน ในกระบวนการผลิต เรียกว่า carbon capture and storage (CCS) ส่งคาร์บอนตรงสู่ผืนดินก่อนจะลอยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งทั้งเทคโนโลยีดักจับ และจัดเก็บคาร์บอน จะทำงานได้ แต่ยังไม่เต็มรูปแบบที่จะขยายสู่มาตรฐานเชิงพาณิชย์ ที่สำคัญยังอยู่ระหว่างการถกเถียงกันในหลายเวที เกี่ยวกับความเสียหายของการลดการใช้พลังงานฟอสซิล


นี่คือสิ่งที่ทำให้การลดคาร์บอนจากอุตสาหกรรมฟอสซิลมีความล่าช้า!!


ดังนั้นในเวที COP28 จะมีการผลักดันให้ บริษัทด้านพลังงานจึงต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนสู่พลังงานสะอาด ปล่อยคาร์บอนลดลง โดยมีข้อเสนอหลากหลายในกาจึงจะต้องหาความชัดเจน ทำให้ทุกประเทศ มุ่งสูู่การยุติการใช้พลังงานจากฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน รวมถึงก๊าซธรรมชาติ โดยกำหนดให้ภาครัฐมีการของทุกประเทศ วางแผนการลดการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้นเป็นรูปธรรม โดยมีมาตรการขับเคลื่อนนโยบายที่่จะนำไปสู่การบังคับใช้

  

 

EU-สหรัฐ-UAE ตกลงCOP28
เพิ่มพลังงานหมุนเวียน3 เท่า


มาตรการที่เป็นต้นแบบการเปลี่ยนผ่านทั้งเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) ยกตัวอย่าง มาตรการในสหรัฐอเมริกา มีการออกฎหมายเกี่ยวกับการลดอัตราเงินเฟ้อ (The US Inflation Reduction Act) มีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุน อุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาทักษะแรงงานสีเขียว เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ส่วนในยุโรป มีการส่งเสริมให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป้าหมาย 14% ของสัดส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง มุ่งเน้นที่การปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจก จะนำไปสู่การเพิ่มห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่มีกลุ่มผู้ผลิต (Suppliers) สีเขียวขยายวงกว้างมากขึ้น จึงจะทำให้เกิดความต้องการพลังงานสะอาดขยายตัว และคุ้มค่ากับการลงทุน

สิ่งที่ท้าทาย และถือเป็นมิติใหม่ บนเวที COP28 คือการที่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(๊UAE) กำลังผลักดันข้อตกลงระดับโลกที่การประชุม COP28 เพื่อเพิ่มพลังงานหมุนเวียนสามเท่าภายในปี 2573

  

 

 ปฏิวัติภาคเกษตร-ห่วงโซ่อาหาร

ฟื้นฟูระบบนิเวศ

เหตุผลที่ต้องกลับมาทบทวนฟื้นฟูระบบการผลิตอาหารของทั้งโลก เพราะระบบกาผลิตอาหารที่ผ่านมา ได้ทำลายระบบนิเวศ ทำให้โลกขาดสมดุล ทำให้ประชากรโลกกว่า 811 ล้านคน หรือมากกว่า 10% ของประชากรท่วโลก ยังต้องเผชิญกัยความหิวโหย ขาดแคลนอาหาร และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วิกฤติต่างๆ ทั้งโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามอิสราเอล ส่งผลทำให้ระบบอาหารและพลังงานมีราคาสูงขึ้นทวีคูณ มีผู้ได้เผชิญกับภัยสงคราม ต้องอยู่ในสภาวะขาดแคลน

ขณะเดียวกัน ระบบการผลิตอาหาร วิถีเกษตรกรรมใช้พื้นที่จำนวนมาก เป็นสาเหตุทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 ของการผลิตอาหาร ยิ่งการผลิตอาหารมากขึ้น แต่กลับทำให้เกิดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของโลกถึง 70%

ปัญหาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงวงจรการผลิตอาหาร ขาดการบริหารจัดสรรเชื่อมโยงกับผลกระทบที่เกิดขึ้น กับคน สิ่งแวดล้อม เป็นระบบการผลิตที่มุ่งตอบโจทย์ปริมาณ ผลิตอาหารจำนวนมากเพื่อจำหน่ายให้กับผู้คน บนสภาวะที่คาดการณ์ว่าประชากรมนุษย์บนโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9,700 ล้านคน ในปี 2593 เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องจัดวางระบบการผลิตอาหารใหม่ให้เกิดความสมดุล และยั่งยืน ทั้งกับคน และสิ่งแวดล้อม

ในเวที COP28 จึงต้องวางเป้าหมายการปฏิวัติและฟื้นฟูโลก เข้าไปจัดระบบวงจรการผลิตอาหารเชื่อมโยงกับนโยบายเกษตรแห่งชาติ พร้อมกับกำหนดให้สอดคล้องกับเป้าหมายNDC เพื่อให้การผลิตอาหาร เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายการลดคาร์บอน

เป้าหมายของCOP28 จึงงต้องทำให้ระบบการผลิตอาหารด้วยความตระหนักรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ มีการเชื่อมโยงกัน ระหว่าง ภูมิประเทศและธรรมชาติ ควบคู่กันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความมั่นคงทางอาหาร

รายงานล่าสุดจาก World Economic Forum ระบุว่า หากสามารถฟื้นฟูนโยบายที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติอาจสร้างมูลค่าธุรกิจถึง 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และสร้างงานได้ถึง 395 ล้านคน ภายในปี 2573 นั่นหมายถึงความมั่งคั่ง ความมั่นคงในคุณภาพชีวิต สุขภาพ และรายได้ เกิดขึ้นพร้อมกันกับการพลิกฟื้นและปกป้องธรรมชาติได้ด้วย บทความ Nature ใหม่ยังคาดการณ์ว่าการกู้คืนและปกป้องป่าเพียงอย่างเดียวสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ถึง 226 ตันคาร์บอน

เวที COP28 จึงเป็นการติดตามความคืบหน้าของผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ระดับโลก ในพืชเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ถั่วเหลือง, น้ำมันปาล์มและโคนม เพื่อติดตามคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับความเข้าใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาพลิกฟื้นผืนป่า พร้อมกันกับดึง ภาครัฐบาล, ภาคเอกชน และสังคมพลเมือง ร่วมกันรับผิดชอบสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบอาหารพลิกฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพ คืนความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรให้คืนสู่โลก

  

 

วาระโลก รวมเป็นหนึ่งเดียว
สองยักษ์ปลิดขั้วขัดแย้ง ผสานบริบทใหม่พลังงาน

นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ทั่วโลกรวมเป็นหนึ่ง เริ่มหันกลับมารวมพลังแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศของโลก ในเวที COP28 เป็นจุดพลิกในหลายด้านแม้กระทั่ง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จีน -สหรัฐ กลับมาหารือกันอีกครั้ง หลังจากอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากสัญญาปารีส และเมื่อโจ ไบเดน ประธาธิบดีคนปัจจุบัน ได้รับเลือกจึงกลับมาสานต่อภารกิจกู้โลก ในเวที COP 28 ทิ้งความเป็นตัวตน ผลประโยชน์ของความเป็นอเมริกัน และ จีน ทำความตกลง กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในฐานะเป็นผู้นำแหล่งผลิตและใช้พลังงานใหญ่ของโลก ตกลงแสวงหาพลังงานใหม่ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งที่ 2 ที่สะท้อนได้ถึงความมั่งมั่นจริงจังกับภารกิจฟื้นฟูโลก ยุติใช้พลังงานฟอสซิลตกลงร่วมมือกัน โดยมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการที่จะเร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ให้เพียงพอใช้ในประเทศภายในปี 2573

ประเทศไทย ก.ทรัพย์ ผลักดัน 4 วาระ
เปลี่ยนผ่านไทยสู่ความยั่งยืน บนเวที COP28

  

 

สำหรับเป้าหมายของประเทศไทยในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศระหว่าง ปี 2564-2573 ตามที่ได้ยื่นสัตยาบันไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20 - 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ในสาขา พลังงานและขนส่ง, สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย


ตั้งแต่ปี 2558-2563 ประเทศไทยได้ใช้ 9 มาตรการ ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วในภาคพลังงานและขนส่ง เช่น การผลิตไฟฟ้า ผลิตพลังงานความร้อนด้วยพลังงานทดแทน จากธรรมชาติ-ชีวภาพ ใช้ไบโอดีเซล - เอทานอลในภาคการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้า และผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีสะอาด เป็นต้น ซึ่งเป็นแผนดำเนินการที่ได้แสดงเจตจำนงลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยสมัครใจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้แนะนำ อุตสาหกรรมไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับหลักเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีการติดฉลากลดโลกร้อนในสินค้าอุตสาหกรรม พร้อมกับระบุวัฏจักรการผลิต การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะต้องควบคุมในระดับที่เหมาะสมจึงจะได้รับการรับรอง

การประชุม COP28 ตัวแทนทีมประเทศไทย มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย จะเข้าร่วมการประชุมระดับ High-level Segment ระหว่างวันที่ 9 - 10 ธันวาคม 2566 โดยมีประเด็นการเจรจาที่สำคัญบนเวที ประกอบด้วย

-การประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST)
-การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Goal on Adaptation: GGA)
- เรียกร้องให้มีการสนับสนุนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเปราะบาง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแก้ไขปัญหาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ผ่านการเร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2025 ผ่านกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility Fund) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสียและความเสียหาย จากผลกระทบสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ประเทศไทย จะนำผลสำเร็จของการประชุม TCAC 2023 หรือการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เสนอต่อที่ประชุม COP28 ใน 4 ประเด็นหลัก คือ

1.การร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทยทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่
2. เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
4. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ อีกทั้ง ประเทศไทยยังได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ณ Thailand Pavilion ในการจัดประชุม COP28 เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยสู่ประชาคมโลกอีกด้วย


ที่มา: https://www.voanews.com/a/what-do-we-expect-from-cop28-/7350206.html
https://www.mnre.go.th/th/news/detail/169726
https://www.voanews.com/a/us-and-china-renew-dialogue-on-climate-ahead-of-cop28/7358464.html
https://www.cop28.com/en/news/2023/11/COP28-President-welcomes-US-China-Agreement
https://www.chathamhouse.org/2023/09/what-cop28-and-why-it-important?gclid=CjwKCAiAjfyqBhAsEiwA-UdzJKzVI1v6lCuYutCyGUyeNS484N-ZFHUAff3bafkMJ6uDPKN1RSMp5xoCpmgQAvD_BwE
https://uk.news.yahoo.com/gas-oil-industry-faces-moment-061234146.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAAH4YSbJLz1iblj7RVxopMvmKiXbiC0SeF4vjFnpSF8AsuUG--NadP6EVc5B2MkYPkIh6-RF9i4wcK0bkQwA8v9cJPB_6pc7hHYASK5AmLJBqs89yhRWWjoLU-PjDgZ7-TvWjwX82NdTCIYRefC6p7_9_WyrYO2OBTjXmQAlZI1R8
https://unfoundation.org/blog/post/climate-issues-to-watch-in-2023-toward-cop-28-and-faster-more-urgent-climate-action/?gclid=CjwKCAiAmZGrBhAnEiwAo9qHia349q75M47Lo3oL7OOmwOgkdrYCVsuU3zqgi85p216J2RZL39ocnhoCwScQAvD_BwE
https://www.weforum.org/impact/sustainable-food-system-solutions/?gad_source=1&gclid=CjwKCAiAmZGrBhAnEiwAo9qHidvwiFJYhE6SItJOXYP5qx1I21uGOflbHdwlulZyy4RjKbRVcc2YlBoCyYIQAvD_BwE
https://www.weforum.org/agenda/2023/11/cop28-food-system-climate-agriculture/