ก.ล.ต.ชี้ทั่วโลกเผชิญภาวะโลกเดือด ธุรกิจต้องใส่ใจ ESG เพื่อความอยู่รอด

by ESGuniverse, 3 พฤษภาคม 2567

ก.ล.ต.ชี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือด สัญญาณอันตราย และโจทย์ยากของการทำธุรกิจ หากไม่ปรับตัวทำเรื่อง ESG สุดท้ายอาจอยู่ไม่รอด โดยเฉพาะไทยที่เป็นประเทศส่งออก ขณะที่ยุโรปเริ่มมีกติกาสำหรับสินค้านำเข้าอย่าง CBAM

 

สมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Ex-MBA KU) จัดสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีสมาคม ในหัวข้อเรื่อง “ESG : The Next Chapter to Sustainability : ก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน” มีผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ขึ้นเวทีชี้ทางนำประเทศไทยสู่อนาคตความยั่งยืนในมุมมองที่แตกต่างกัน

 

 

ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การทำธุรกิจปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากคำนึงถึงกำไรแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ESG (Environmental, Social, Governance) สิ่งเหล่านี้คือจุดเสี่ยงที่นำไปสู่วิกฤติ หากขาดสมดุลตัวใดตัวหนึ่ง เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจนต่างชาติต้องเข้ามาช่วยเหลือ ผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เกิดจากปัญหาการทุจริตของภาคเอกชน และภาคการเงิน

 

นั่นคือจุดเริ่มต้น เกิดการเรียกร้องด้าน “ธรรมาภิบาล” โดยเฉพาะการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการแยกส่วนระหว่างคนเล่นหุ้นกับคนที่บริหารจัดการ เพราะมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คือ คนเล่นหุ้นอยากได้มูลค่าสูงขึ้นจากทุนที่ลงไป ฝ่ายบริหารเป็นผู้ควบคุมทรัพยากร เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติด้านโครงสร้างของธรรมาภิบาล ในการกำกับกิจการของฝ่ายบริหาร โดยมีกรรมการเป็นตัวกลาง ฝ่ายกรรมการและฝ่ายบริหาร จะต้องตรวจสอบซึ่งกันและกัน ฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ ธรรมาภิบาล เกิดก่อน เพราะเราต้องการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

 

ปัจจุบันนิยายามของธรรมาภิบาล มีการปรับเป็นรักษาผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน(Stakeholers) ไม่จำกัดแค่เจ้าของอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงพนักงาน ซัพพลายเออร์ ชุมชน สังคมด้วย เพื่อให้การทำธุรกิจ จัดสรแบ่งปันผลประโยชน์กลับไปให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้สมดุล มีหลักปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

 

“ หลังจากเริ่มต้น G ตามมาด้วย E และ S รวม ESG ทำแล้วต้องได้ประโยชน์ให้กับคนรอบตัวต้องได้ด้วย ตามด้วยชุมชนและสังคน คนที่ทำ ESG จะมีความเสี่ยงเรื่องการขาดทุนน้อยกว่า เพราะเมื่อคราวที่แย่จะแย่น้อยกว่าคนอื่น เมื่อคราวที่ดี ก็จะดีกว่าคนอื่น และมีความยืดหยุ่นที่ดีเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ”

 


โลกเดือดความท้าทายภาคธุรกิจ

 

ศ.ดร.พรอนงค์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในความท้าทายหลัก ของคนทำธุรกิจวันนี้ หากสังเกตจะพบว่าไม่มีวันไหนที่อากาศไม่ร้อนขึ้น ทุกๆ วันได้เพิ่มอุณหภูมิทำลายสถิติใหม่ เพราะเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถือเป็นความเสี่ยงที่เรากำลังเผชิญ

 

จากรายงานของ Morgan Stanley Capital International (MSCI) ซึ่งเป็นบริษัททำดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก บอกว่ามีอยู่ 6 เรื่องหลักที่เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญ

 

1 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงระดับที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ขยับจาก “โลกร้อน” สู่ “โลกเดือด” ระบุทุกกิจกรรมของทุกคนควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมองในมิติที่ยั่งยืนมากขึ้น

 

“เรื่องของสินค้า ในฐานะผู้บริโภคจะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงเป็นการอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลกแก่บริษัทผู้ผลิต

 

นอกจากนี้ UN ยังแนะภาคธุรกิจต้องมองไปถึงระบบ Supply chain ของห่วงโซ่การผลิตด้วยว่าต้องมีการปรับตัว และทำเรื่องความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน เพราะประเทศเราก็มีสินค้าส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป”

 


ยุโรป เริ่มมาตรการ CBAM ควบคุมสินค้านำเข้า

 

ศ.ดร.พรอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ ESG เริ่มไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยกตัวอย่างในยุโรปที่มีกฏ กติกา สำหรับสินค้านำเข้า ที่เรียกว่ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามา

 

กำหนดให้การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป จะมีการคำนวณ การปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ถ้าปริมาณปล่อยคาร์บอนสูง ก็ต้องเสียภาษีประมาณ 80-90 ยูโรต่อตัน ณ ตอนนี้เขากำหนด 6 กลุ่มสินค้านำเข้า เช่น 1.ซีเมนต์ 2.ไฟฟ้า 3.พลังงานไฮโดรเจน 4.ปุ๋ย 5.เหล็กและเหล็กกล้า 6.อลูมิเนียม เป็นต้น

 

“กฏกติกานี้จะส่งผลต่อทุกธุรกิจแน่นอนไม่เร็วก็ช้า ภายในปี 2569 จะเริ่มบังคับอย่างจริงจัง ฉะนั้นก้าวต่อไปต่อให้เราไม่อยากคิด ไม่อยากทำมันก็จะทำให้เราเสียโอกาส และท้ายที่สุดก็อาจทำให้เราอยู่ไม่ได้เลย เพราะเราไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี”


ต่างชาติประเมิน ESG ไทยต่ำ
นักลงทุนมองหาบริษัทใส่ใจ ESG

 

อย่างไรก็ตามถ้าถามถึงความคืบหน้า ESG ในไทยตอนนี้ ศ.ดร.พรอนงค์ กล่าวว่า ต่างชาติประเมินเราต่ำมาก เพราะเรามีองค์ความรู้เรื่องนี้น้อย ดังนั้น บอร์ดบริหารจึงต้องมีความรู้ ต้องทำให้ตื่นตัว

 

ในส่วนของการลงทุนต่างชาติ ตอนนี้เขาจะดูบริษัทจดทะเบียนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมคือ กรีนอินเวสเมนท์ (Green Investment) คือการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการลงเงินให้กับบริษัทที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เขาใช้เกณฑ์นี้ประกอบการตัดสินใจลงทุน



“เงินที่จะลงทุนเพื่อการเกษียณ ในต่างประเทศเป็นเงินก้อนใหญ่มาก ปัจจุบันนักลงทุนไม่มองเรื่องผลตอบแทนอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาถึงการลงทุนไปนั้น ต้องตอบโจทย์ด้วยว่าบริษัทที่จดทะเบียน มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ก็คือแม้ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อการเกษียณ แต่ก็ต้องมองในมิติอื่น ๆ ร่วมด้วย กล่าวคือนักลงทุนเขาจะไม่ลงทุนกับหุ้นที่ไม่ใส่ใจเรื่อง ESG อย่างนี้เป็นต้น”


ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสังคม 3 เรื่อง

 

ทั้งนี้เมื่อมองในมิติสังคม ศ.ดร.พรอนงค์ ฉายภาพว่า จากการศึกษาวิจัย เรากำลังเปลี่ยนผ่านสังคมอยู่ 3 เรื่อง คือ

 

เรื่องแรก สังคมสูงวัย เราไม่อยากเป็นสังคมสูงวัย แต่ว่าเรื่องของอายุมันหยุดกันไม่ได้ ประเทศไทยตอนนี้น่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเกือบสมบูรณ์แล้ว เพราะถ้าเรามีคนอายุ 60 ปี ถึง 20% ถือว่าเราเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

 

เรื่องที่สอง สังคมดิจิทัล รอบตัวเราทุกคนต่างใช้โซเชียลมีเดีย ต่อให้เราใช้ไม่เป็นเราก็ต้องเข้าสู่สังคมนี้โดยธรรมชาติ

 

เรื่องที่สาม สังคมเศรษฐกิจสีเขียว สังคมคาร์บอนต่ำ

 

“ถ้าเราไม่หากลไก เราไม่สร้างการตระหนักรู้ เราไปสู่สังคมนั้นไม่ได้ สิ่งนี้ไม่ทำไม่ได้ เพราะว่าสังคมที่เจริญแล้วส่วนใหญ่เขาทำกัน ซึ่ง ก.ล.ต.จะเปลี่ยนผ่านโดยกลไก พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาเศรษฐกิจเงินทุนให้ยั่งยืนและโตต่อเนื่อง ซึ่งต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และร่วมมือกับพันธมิตรทั้งใน และต่างประเทศเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย”

 


ดัน ESG เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ
เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ จุดยั่งยืน

 

ศ.ดร.พรอนงค์ กล่าวอีกว่า เราไม่ต้องการเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจ สังคม ที่เกิดขึ้นแล้วก็ยุบลง เหมือนเป็นโชคช่วย เราอยากเห็นการเติบโตที่มันต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยเป็นการโตที่ถ้าเราวิ่ง ประเทศอื่นวิ่ง เราต้องวิ่งอยู่ในลู่ที่สู้กับเขาได้ ดังนั้น ก.ล.ต.จะมีพันธกิจทั้งเป็นผู้กำกับ (Enforcement) และพัฒนา (Development) ไปพร้อมกัน เพื่อก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ตามแผนพัฒนาประเทศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เริ่มตั้งแต่ปี 2561 -2580 เรื่องของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ต้องการเห็น ESG ในตลาดทุนไทย เป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem หรือระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของไทย

 

“ทำอย่างไรถึงจะสร้างระบบนิเวศที่ให้ทุกคน มุ่งสู่เรื่องเดียวกัน การทำธุรกิจทุกวันนี้ต้องผนวกเรื่อง ESG เข้าไปในกระบวนการของธุรกิจด้วย และต้องเปิดเผยให้บุคคลภายนอกรู้ โดยนำเอา ESG เข้าไปประกอบในรายงานทางการเงิน โดยให้มีหมวดเปิดเผยเรื่อง ESG”

 

กลต.สร้างกองทุนด้านความยั่งยืน
หวังเป็นช่องทางสร้างเสถียรภาพด้านการเงินสีเขียว

 

นอกจากนี้ ทางกลต.ได้สร้างโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องการดูดซับคาร์บอน แล้วติดป้ายไว้เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจสามารถเข้าไปลงทุนได้ และปลายปีที่แล้วออกกองทุน Thai ESG คือ สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท การลงทุนลักษณะนี้เป็นสินทรัพย์ เป็นหุ้นในกลุ่มของความยั่งยืน ตลอดจนการลงทุน Token สิ่งเหล่านี้นำมารายงานใน One Report ได้ ซึ่งปัจจุบันก็จะให้มีการรายงานปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก


อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เกี่ยวข้องกับ ESG เป็นการยกระดับบริษัทให้เข้มแข็ง มีคุณภาพของกำไร สัดส่วนของทุน และเป็นเรื่องของการคัดกรอง ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้แข็งแรงมากขึ้น ถือเป็นแนวทางที่จะเป็นอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดในเรื่องของการส่งเสริม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หาบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มที่กำลังเจริญเติบโต ให้สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมกรีนให้ได้ เป็นต้น

 

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลตอบแทนให้กับบริษัท ที่ต้องการทำเรื่อง ESG อยู่ เช่น การออกหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ก.ล.ต.จะยกเว้นภาษี และจะคุยกับแหล่งทุน ช่วยให้ต้นทุนได้การตรวจสอบต่ำลง เป็นแนวทางซึ่งเราใช้ทั้งพวกระดมทุนใหม่และพวกเก่า

 

สิ่งที่อยากส่งเสริมคือทำดีแล้วต้องทำให้คนอื่นรับรู้ ทำรายงานบ่อย ๆ ทางด้านการเงินการลงทุน ทำอย่างไรให้อ่านได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้จัดการการลงทุนต่าง ๆ เข้ามาเห็นข้อมูลเหล่านี้ แล้วนำไปวิเคราะห์ นี่เป็นวิธีการที่สำนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯส่งเสริมให้เกิด Ecosystem ให้คนอยากจะมาลงทุน อยากจะมาทำในเรื่องของความยั่งยืนในตลาดทุนไทย"

 

หนุนบริษัทเปิดเผยข้อมูล ESG ทำแล้วได้อะไร

 

ศ.ดร. พรอนงค์ กล่าวว่า ทาง ก.ล.ต.ให้เปิดเผยในหัวข้อ 56-1 ซึ่งไม่ได้ให้แค่บอกให้ท่านเปิดเผยกิจกรรมเมินความเสี่ยง แต่ให้บอกถึงกิจกรรมเหล่านั้นในรายละเอียดว่าทำแล้วได้อะไร ซึ่งแน่นอนให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัว E สิ่งแวดล้อม เช่น คาร์บอนฟรุตปริ้นต์ เครื่องวัดมาตรฐานต่าง ๆ มีแผนในการลดอย่างไรต้องมีการตรวจสอบ ในทางปฏิบัติ ออกระดมทุนกับสิ่งเหล่านั้นจะต้องมีการตรวจสอบจากภายนอก

 

ข้อมูลที่คุณเปิดเผย จะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ให้ทาง ก.ล.ต.สามารถตรวจสอบได้ สิ่งที่คุณเปิดเผยคุณต้องรับผิดชอบ ธุรกิจก็ต้องประเมินไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายโรงงานรายสินค้า ท่านต้องเป็นคนประเมินในเรื่องของความคุ้มค่า บางครั้งสิ่งที่เราได้เช่นชุมชนเป็นการประเมินได้ยาก บีโอไอตอนนี้เขาก็เป็นชุมชน มาลงนาม องค์กรไหนอยากหยิบโครงการไปสนับสนุน บีโอไอก็จะให้ท่าน ไปดำเนินการและสามารถยกเว้นภาษีได้ 200% นำกิจกรรมเหล่านั้นมาเปิดในตัว S ได้ มีความน่าเชื่อถือคุ้มค่า

 

“เราจำเป็นที่จะพูดถึงเรื่องคนไทยจะต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องการออกอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน มีความเข้าใจเรื่องการใช้เครื่องมือดิจิตอล ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศก็เป็นสิ่งหนึ่ง ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องไปหาความรู้ ต้องมีการเตรียมตัวมาตรการ CBAM เตรียมตัวเรื่องของการปลูกป่า ได้คาร์บอนเครดิตมาจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ฝ่ายมาตรฐานที่ต้องใช้ มาตรฐานโลก ไปหยิบเรื่องจริงเหล่านี้มาปรับใช้ให้เข้ากับเรา นี่คือภาคธุรกิจที่จะต้องดำเนินการ”

 

ส่วนในภาคของประชาชน ต้องเป็นการทดลองก่อน พื้นที่ที่เยอะที่สุดของโลกคือมหาสมุทร จะช่วยได้อย่างไร อย่างแรกเราต้องไม่ปล่อยขยะลงไปในมหาสมุทร คนที่ทำโครงการเกี่ยวกับขยะในมหาสมุทรควรได้เกียรตินิยมทางคุณธรรม พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง เราไม่รู้หรอกว่ากระบวนการทิ้ง มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ภาคประชาชนก็ต้องสร้างความตระหนักรู้ว่า มีหน่วยงานที่ทำงานในเรื่องนี้ อีกไม่ถึง 8 ปีข้างหน้า เราจะโดนเรื่องภาษีคาร์บอนเครดิต เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรู้และเตรียมตัว

 


อย่ามอง ESG เป็น CSR
3 แรงผลักดันรอบทิศ
เริ่มจากประเมินตน
เสาแห่งความยั่งยืน

 

ทั้งนี้อย่ามอง ESG เหมือน CSR ในอดีตที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำประชาสัมพันธ์ทางการตลาดที่เป็นเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ เพราะมันจะเป็นภาระเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้านำมารวมเป็นกระบวนการทำธุรกิจ ในระยะสั้นเปลี่ยนระบบ

 

แต่ในระยะยาวทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ถ้าท่านไม่ทำท่านก็จะมีต้นทุนระยะยาวเกิดขึ้น ถ้าท่านยังส่งของไปต่างประเทศท่านไม่ทำคนอื่นทำ เพราะว่าต้นทุนเขาต้องจ่ายแทนท่านเขาไม่เลือกท่าน หรือในกรณีธุรกิจต่าง ๆ เช่นโฟล์กสวาเกน บริษัทน้ำมันในต่างประเทศ ท้ายสุดมันคือต้นทุนที่ส่งกลับมาหาเรา"

 

ปัจจุบันเรามอง ESG เป็นเรื่องที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือเรื่องของความยั่งยืน ถ้าเราอยากลุกขึ้นมาทำดี ๆ จะมีแรงผลักมาจากหน่วยงานแรกคือ ก.ล.ต.ที่ตั้งกฎเกณฑ์ว่าใครทำก็ได้รางวัล ใครไม่ทำก็โดนปรับและลงโทษ ฉะนั้นการมองจาก ก.ล.ต.จึงเป็น เพียงแรงผลักอีกด้าน

 

ขณะเดียวกัน แรงผลักตัวที่สองด้าน ที่เข้ามาขับเคลื่อนให้ต้องทำESG มาจากผู้บริโภคเป็นผู้เรียกร้องและคู่แข่ง มาบีบให้ต้องทำเพื่อแข่งขันได้ ไม่ตกเวที แต่เราอยากจะผลักด้วยตัวผลักที่ 3 คือตัวท่านเอง ทำเพราะว่าเราทำแล้วเราได้ ค่อยๆทำตามศักยภาพของตนเอง อาศัยผู้รู้ เลียนแบบบริษัทขนาดใหญ่ เดินเข้ามาหาผู้ตรวจสอบ ว่าเขามีแรงสนับสนุนอะไรได้บ้าง มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่จะมาช่วย สถานศึกษาก็เป็นหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญ

 

“ESG ถ้าผลักจากตัวของท่านเองหรือองค์กรของท่านจะเป็นภาพที่ชัดมาก ถ้าผลักมาจากคนอื่น เล่นใหญ่เกินไปมองคนอื่นแล้วเราทำตาม หรือเล่นน้อยเกินไปเพราะต้องประคองตัว สุดท้ายสุดก็ไม่ยั่งยืน ตรวจสอบก็โดนด่า หน้าที่ของ ก.ล.ต.เหมือนคุณครู หน้าที่ของเราคือกางวางโรดแมป วางมาตรฐานระดับของประเทศเพื่อไปสู่การแข่งขันได้”

 

Tag :